xs
xsm
sm
md
lg

จีนทดลองใช้ “เตาปฏิกรณ์แบบเร็ว” จ่ายไฟฟ้าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ 4 ต.ค.2552 ภายนอกอาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเร็ว บริเวณกรุงปักกิ่ง(ภาพพีเพิล เดลี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ / พีเพิล เดลี - กิจการนิวเคลียร์แห่งชาติจีน หรือ ซีเอ็นเอ็นซี (China National Nuclear Corporation - CNNC) เผย เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเร็วเตาแรกของจีน ดำเนินการทดลองเชื่อมต่อเข้ากับระบบจ่ายไฟฟ้าทั่วประเทศแล้ว

ซุน ฉิน ผู้จัดการทั่วไปกิจการนิวเคลียร์แห่งชาติจีน หรือ ซีเอ็นเอ็นซี (China National Nuclear Corporation - CNNC) เผย(21 ก.ค.)ว่า โครงการทดลองเตาปฏิกรณ์แบบเร็ว(Fast Reactor) ที่อยู่บริเวณกรุงปักกิ่ง ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบให้กำเนิดเชื้อเพลิงอย่างเร็ว(fast breeder reactor) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่น 4 ที่ใช้นิวตรอนพลังงานสูง(fast neutrons) ในกระบวนการแยกตัวทางนิวเคลียร์ของเชื้อเพลิงยูเรเนียม 238(U-238)

นอกจากนี้การใช้พลังงานนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์รุ่นล่าสุดนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งสามารถเผาไหม้ยูเรเนียมได้มากกว่าเดิมถึง 60 เท่า และช่วยเร่งให้กากนิวเคลียร์เสื่อมสภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดปัญหาการจัดการกับสารกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วได้

การทดลองเตาปฏิกรณ์แบบเร็วดังกล่าว ซึ่งมีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า 20 เมกกะวัตต์ เป็นโครงการเบื้องต้นในการศึกษาและพัฒนาเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเร็วขนาดใหญ่ 1 กิ๊กกะวัตต์(หรือเท่ากับ 1,000 เมกกะวัตต์) ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างที่เมืองซันหมิง มณฑลฝูเจี้ยน ในปี 2560

สีว์ มี่ หัวหน้าวิศวกรโครงการทดลองเตาปฏิกรณ์แบบเร็วแห่งสถาบันพลังงานปรมาณูแห่งชาติ เผยว่า “เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์แบบเร็วนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้ยูเรเนียมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเดิม 1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ และลดการปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีลงได้มาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์อย่างยั่งยืนของจีน”

สีว์ ระบุว่า หลังจากดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์แบบเร็วมากว่า 20 ปี ขณะนี้ซีเอ็นเอ็นซีกำลังพัฒนาเตาปฏิกรณ์แบบเร็วที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านเมกกะวัตต์

นอกจากนี้ นายสีว์ ยังเผยอีกว่า ซีเอ็นเอ็นซี ได้วางแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่น 4 ขนาด 800 เมกกะวัตต์ อีก 2 แห่ง ในเมืองซันหมิง มณฑลฝูเจี้ยน ราวปี 2556-2557

ทั้งนี้ โครงการทดลองเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเร็วควบคุมดูแลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันแห่งชาติ และกิจการนิวเคลียร์แห่งชาติจีน ขณะที่สถาบันพลังงานปรมาณูแห่งชาติได้ร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันแต่ละแห่งอีกมากกว่า 400 คน ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 2,500 ล้านหยวน (ราว 387 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

อนึ่ง จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 28 แห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการริเริ่มโครงการฯ อีก 38 แห่ง คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานรวมได้ 66 ล้านกิโลวัตต์
เจ้าหน้าที่ห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเร็วกำลังตรวจเช็คการทำงานของเตาปฏิกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2554 (ภาพพีเพิล เดลี)
กำลังโหลดความคิดเห็น