เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ความขัดแย้งเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือเขตแดนในทะเลจีนใต้ ที่ตึงตังขึ้นในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ส่อเค้าว่า จะซาลง กระทั่งนักวิเคราะห์บางคนเริ่มวิตกว่า การเผชิญหน้าอาจบานปลายถึงขั้นเกิดการปะทะทางทหาร และก่อหายนะแก่ภูมิภาคแถบนี้
เหตุการณ์ได้พัฒนาไปในแนวทาง ที่ชวนให้กังวลเช่นนั้น โดยเมื่อวันอาทิตย์ (19 มิ.ย.) ชาวเวียดนามหลายร้อยคนพากันมาชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตจีนในกรุงฮานอย และในเดือนหน้าเวียดนาม อดีตศัตรูสงครามกับสหรัฐฯ จะจัดการซ้อมรบทางทะเลร่วมกับพี่กัน
นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีรายงานความเคลื่อนไหวทางทหารของชาติที่ขัดแย้ง ได้แก่กองทัพเวียดนามฝึกการซ้อมยิงด้วยกระสุนจริง ส่วนหน่วยทหารนาวิโยธินของพญามังกรก็ฝึกซ้อมการยกพลขึ้นบก และกำลังส่งเรือลาดตระเวนทางทะเลใหญ่ที่สุดลำหนึ่งของจีนไปทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ก็มีแผนส่งเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของตนไปที่นั่นด้วย
ทว่าท่ามกลางเสียงคำรามฮึ่ม ๆ ใส่กันนั้น ยังมีเหตุผลดี ๆ อีกหลายประการ ที่ทำให้เชื่อได้ว่า พัฒนาการเหล่านั้นมันเป็นแค่พายุ ที่กระเพื่อมในถ้วยน้ำชาเท่านั้น
ประการแรก การสู้รบระหว่างจีนกับเวียดนาม หรือกับชาติผู้อ้างสิทธิ์รายอื่น ๆ ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะทุกฝ่ายล้วนตระหนักชัดว่า การใช้กำลังจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ รังแต่จะทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
ประการที่ 2 หากพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า การออกมาพูดจาของรัฐบาลปักกิ่งแสดงความอหังการ และชวนทะเลาะวิวาทน้อยกว่าที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างชาติวาดภาพเอาไว้อย่างมาก
นอกจากสำนักข่าวไม่กี่ราย เช่นไชน่าเดลี่ พีแอลเอเดลี่ และโกลบอลไทมส์แล้ว สำนักข่าวที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของทางการจีนล้วนไม่ให้ความสำคัญในการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวทางทหารของชาติ ที่ขัดแย้ง และมักอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์บนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเรียกร้องความสงบและความอดกลั้น
นอกจากนั้น จากรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พลอากาศเอกเฉียว เหลียง แห่งกองทัพอากาศจีน ระบุว่า จีนจำเป็นต้องคิดให้กระจ่างเรื่องปัญหาน่านน้ำที่ขัดแย้ง เพราะสภาพแวดล้อมกำลังเปลี่ยนไป อีกทั้งการอ้างสิทธิ์เหนือเขตแดนควรทำภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ คำพูดนี้สะท้อนว่า แม้แต่ภายในกองทัพจีนเองก็ยังมีความเห็นในการจัดการกับปัญหาแตกต่างกัน
ประการที่ 3 บรรดาผู้นำจีนล้วนตระหนักดีว่าความสัมพันธ์ ที่เสื่อมทรามลงกับเวียดนาม และชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ มีแต่จะผลักไสให้ชาติเหล่านั้นไปซบในอ้อมปีกของพญาอินทรีสหรัฐฯ
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องมงคล โดยจีนเฝ้าระแวดระวังมา นับตั้งแต่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้วว่า การทำให้แน่ใจว่าการเดินเรือได้อย่างอิสระและการเกิดสันติภาพในทะเลจีนใต้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
และแม้จนถึงขณะนี้ วอชิงตันยังแสดงท่าทีว่าเป็นกลางต่อปัญหาการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งมีหมู่เกาะพราราเซล และสแปรตลีย์ แต่กุนซือแดนมังกรหลายคนเชื่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการรวมหัวคบคิดวางอุบายกัน โดยพี่กันสอดแทรกเข้ามีเอี่ยวในพัฒนาการที่เกิดขึ้น
ดังนั้น จึงแน่นอนว่า พญามังกรจะต้องคิดทบทวนยุทธศาสตร์ต่อทะเลจีนใต้กันใหม่
นอกจากนั้น บรรดาผู้นำจีนจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่า การผนวกเกาะไต้หวันยังคงเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งล่าสุดที่เกิดในทะเลจีนใต้ เนื่องมาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพราะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในน่านน้ำข้อพิพาทได้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญแก่เวียดนาม
ฉะนั้น การปัดความขัดแย้ง และการหันหน้ามาร่วมกันพัฒนาจึงเป็นวิธีการ ที่จีนควรดำเนินการ ดังเช่นการสร้างกลุ่มความมั่นคงระดับภูมิภาค อย่างองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งฉลองครบรอบการก่อตั้ง 10 ปีในการประชุมสุดยอดที่กรุงอัสตาน่าของคาซักสถาน นับเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของจีน ซึ่งประสบความสำเร็จในการคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียกลางได้ผลอย่างชะงัด