xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนมองการละเล่นของเด็กๆในรอบ 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซินหวา - ในโอกาสวันเด็กสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มิ.ย.ของทุกปี สื่อจีนก็ได้เสาะหาเรื่องราวของเด็กๆในแง่มุมต่างๆมานำเสนอผู้อ่าน และหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องราวการละเล่นของเด็กที่เปลี่ยนโฉมไปตามเงื่อนไขปัจจัยของยุคสมัย โดยหยิบยกการละเล่นของเด็กๆในเมืองก่วงโจว (กวางเจา) ขึ้นมาสะท้อนและให้ผู้คนได้ย้อนมองคิดคำนึงถึงการละเล่นที่เป็นสิ่งคู่ชีวิตวัยเด็ก และส่งผลในการเจริญเติบโตของเด็กอย่างสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงในการละเล่นของเด็กในเมืองก่วงโจวในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ในช่วงปี 2503 เด็กก่วงโจวฮิตเล่นหมากเก็บ(抓石子) ตีลูกล้อ(滚铁环) ในช่วงปี 2513-2523 ภาพการเล่นปืนกระดาษ(啪啪纸) เล่นพันด้าย(挑花绳) และเล่นกระโดดยาง(跳皮筋) ก็เริ่มเลือนหายไปจากท้องถนน และหลังจากปี 2533 เกมส์แอนิเมชั่น เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย การละเล่นดั้งเดิมของเด็กรุ่นก่อนๆก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

(ภาพซินหวา)
“หมากเก็บ” การละเล่นยอดฮิตของเด็กก่วงโจว
“หมากเก็บ เป็นเกมส์การละเล่นที่ฉันประทับใจมากที่สุด เล่นจนลืมกลับบ้านเลย ทุกๆวัน เด็กในชุมชนทุกคน จะมาเล่นตีลูกล้อด้วยกัน เล่นตังเต(跳房子) และเล่นหมากเก็บแข่งกัน แต่ตอนนี้แทบไม่เห็นเด็กสมัยนี้เล่นแล้ว” หญิงจีนแซ่เจิ้ง ซึ่งเกิดในปี 2504 รำลึกความหลังในวัยเด็ก

“ในสมัยนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากยากจน ก้อนหิน ดิน ทราย ถือเป็นของเล่นที่ดีที่สุด”

เธอกล่าวต่อว่า “เกมส์การละเล่นของเด็กรุ่นก่อน แม้จะง่าย แต่ต้องใช้ทักษะ สำหรับวิธีการการเล่นหมากเก็บ ก่อนอื่น หยิบหิน 10 กว่าก้อนวางลงบนพื้น จากนั้นหยิบขึ้นมา 1 ก้อนไว้ในมือ แล้วโยนขึ้นไป ขณะเดียวกัน ก็รีบหยิบก้อนหินบนพื้นไว้ในมือ แล้วรีบรับหินที่กำลังตกลงมาให้ได้ ถ้าไม่สามารถรับหินที่ตกลงมาได้ ก็จะแพ้ หรือถ้าใครโยนและเก็บได้เยอะสุดก็จะชนะ”

ในบันทึกระบุไว้ว่า การเล่นหมากเก็บ มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง(พ.ศ.1911-2187) และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศจีน

ผู้สื่อข่าวจีน ได้ไปสัมภาษณ์และสอบถามเด็กๆในก่วงโจว พบว่า นอกจากเด็กๆในปัจจุบันแล้ว นักศึกษาชาวก่วงโจวรุ่นนี้ ก็ไม่เคยมีประสบการณ์การเล่นหมากเก็บในวัยเด็กเช่นกัน
(ภาพซินหวา)
เด็กก่วงโจวชอบ “ของสะสม”
เด็กจีนที่เกิดในช่วงปี 2513-2523 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เริ่มดีขึ้น เริ่มมีของเล่นที่ดูทันสมัยมากขึ้น เช่นรถยนต์ของเล่น ฯลฯ โดยทั่วไปเด็กๆก่วงโจวสมัยนี้ จะนิยมของเล่นที่เป็นของสะสมและทำขึ้นเอง

ชายแซ่เริ่น ที่เกิดในปี 2519 เผยว่า “ของเล่นล้ำค่าที่สุดของผมก็คือ หอกไม้อันเล็กและเรือไม้ลำเล็กที่ผมกับพ่อร่วมกันทำขึ้น จำได้ว่าหลังจากทำเรือไม้เสร็จ ผมก็ใช้ยางลบมาทำเป็นมอเตอร์เรือ นำไปลอยเล่นในบ่อน้ำ รู้สึกตื่นเต้นมาก”

สำหรับเกมการละเล่นที่สนุกที่สุดสำหรับเด็กสมัยนี้ ก็คือ เกมส์ดีดเปลือกหอย(弹贝壳) และเกมส์ตีไพ่(拍公仔纸) นายเริ่น เผยว่า “ไม่ใช่เพื่อนทุกคนจะมีไพ่ลายการ์ตูน หรือเปลือกหอยสวยงาม ดังนั้นทุกคนก็ต้องการพยายามสะสมไพ่หรือเปลือกหอยที่ไม่ซ้ำแบบ ใครทำให้เปลือกหอยล้มหรือไพ่ของอีกฝ่ายพลิกคว่ำได้ ก็จะได้รับไพ่หรือเปลือกหอยชิ้นนั้น”

นอกจากนี้ การสะสมแสตมป์กลายเป็นกิจกรรมที่เด็กในก่วงโจวตั้งแต่ชั้นประถมขึ้นไปให้ความสนใจ หญิงแซ่อี๋ว์ ที่เกิดในปี 2518 จำได้ว่า “ในตอนนั้น มีคนส่งจดหมายมาที่บ้าน ฉันก็จะแกะแสตมป์ออกมาอย่างระมัดระวัง แล้วเก็บสะสมเป็นอัลบั้ม หรือนำไปแลกกับเพื่อนที่โรงเรียน ช่วงนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักแสตมป์ บางคนจึงถูกหลอกด้วยการใช้ภาพวาดมาตัดเป็นแสตมป์ แล้วนำมาแลก”
(ภาพซินหวา)
“รูบิค” กระแสฮิตมาแรงของเด็กยุคเปิดประเทศ
นับตั้งแต่ปี 2523 เนื่องจากประเทศจีนปฏิรูปเปิดประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นเรื่อยๆ

หลี ปิง สาวก่วงโจวที่เกิดในปี 2527 สามารถเล่นเกมส์การละเล่นของเด็กรุ่นก่อนๆได้ ทั้งเกมส์หมากเก็บ เล่นพันด้าย เล่นปืนกระดาษ ฯลฯ นอกจากนี้ เธอยังมีตุ๊กตาผมทอง(洋娃娃) ชุดของเล่นอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

หลี ปิง เล่า “ฉันเล่นพันด้ายได้ทั้งวัน เปลี่ยนได้มากกว่า 30 แบบ แต่ที่สนุกสุด คือการทำเป็นลายดอกไม้” พร้อมเล่าว่า ของเล่นสุดรักของตน คือตุ๊กตาผมทองที่ขยับลูกตาได้ ยิ้มได้ และฉันมักจะหวีผมให้มัน

“เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย ฉันก็จะเล่นสวมบทบาทเสมือนเป็นพ่อแม่ลูก และคุณหมอกับคนไข้ พร้อมกับมีของเล่นประกอบเช่น ชุดคุณหมอและชุดของเล่นอุปกรณ์ตรวจไข้ หรือชุดของเล่นทำอาหาร และบ้านจำลอง เป็นต้น ฉันกับเพื่อนจะเล่นเป็นแม่และคุณหมอสลับกัน สนุกมากๆ” หลี ปิง รำลึกความหลัง

นอกจากนั้น หลี ปิง ยังเลี้ยงตัวไหมและลูกเจี๊ยบ โดยเธอเล่าว่า “ตอนที่ฉันเป็นเด็กอนุบาล มีช่วงหนึ่ง เขาฮิตเลี้ยงหนอนไหมกันมาก มีคนมาเร่ขาย ฉันขอให้แม่ซื้อให้ และเลี้ยงมันอย่างดี ให้กินใบหม่อน จนมันกลายเป็นรังไหม แต่มันช่างเลี้ยงยากเสียจริง”

ไม่กี่ปีผ่านไป หลี่ ปิง ก็มีของเล่นสุดฮิตชิ้นใหม่ของยุคนั้น นั่นก็คือ รูบิค(魔方) “ทั้งผู้ใหญ่และเด็กล้วนชอบเล่นรูบิค หากใครไม่มี อาจถูกเพื่อนล้อว่าเชยได้”
(ภาพซินหวา)
“เครื่องเล่นเกมส์” นวัตกรรมใหม่ถูกใจ
เมื่อถึงช่วงตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาอย่างรวดเร็ว เครื่องเล่นเกมส์จากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ เครื่องแฟมิลี่ ซูเปอร์แฟร์มิคอม เกมส์บอย เป็นต้น

เด็กก่วงโจวทศวรรษที่ 90 เริ่มมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้คนจำนวนมากจากที่เคยอาศัยอยู่ในบ้าน เริ่มไปย้ายอยู่ตึกสูง กิจกรรมการละเล่นที่เคยเห็นอยู่ริมถนนเริ่มน้อยลง เด็กๆเริ่มไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นด้วยกันเหมือนแต่ก่อน

เฝิง เจี้ยน ซึ่งเกิดในปี 2535 เผยว่า “ผมเล่นเกมส์บอยตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา ในช่วงนี้ของเล่นที่ฮิตกันมากๆอีกอย่างก็คือลูกดิ่งหรือโยโย่(溜溜球) นอกจากนี้ กระแสเลี้ยงทามาก็อด(电子宠物) ก็เป็นที่นิยมอย่างมาก”
(ภาพซินหวา)
“โลกอินเทอร์เน็ต” สนามเด็กเล่นแห่งใหม่
เกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กิจกรรมการละเล่นดั้งเดิมของเด็กในก่วงโจวรุ่นก่อนๆ เป็นเพียงความทรงจำที่แทบจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป แม้ว่าจะยังมีสอนในระดับชั้นอนุบาลบ้าง แต่พอขึ้นชั้นประถมก็ไม่มีแล้ว

เด็ก 7 ขวบสมัยนี้ มีของเล่นที่ฮิตกันที่สุด เป็นพวกตุ๊กตุ่นตุ๊กตา หุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์ส ซูเปอร์แมน รถบังคับ ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ เด็กน้อยเหล่านี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์เล่นอินเทอร์เน็ตได้ และติดการเล่นเกมส์ต่างๆในสื่อสังคมออนไลน์จีน อาทิ ไคซินหวั่ง(开心网) ฯลฯ โดยเกมส์ที่นิยมเล่น ก็เป็นแนวเดียวกับเฟซบุ๊คบ้านเรา อาทิ เกมส์ปลูกผัก เป็นต้น

เด็กแห่งศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลังเลิกเรียน เล่นเกมส์อยู่แต่ในบ้าน พัฒนาทักษะตนเองผ่านเกมส์คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อนที่มีการรวมกลุ่มเล่นด้วยกัน

มุมมองผู้เชี่ยวชาญ
หลิว เสี่ยวหลิง นักเขียนงานวรรณกรรมเด็ก และเป็นชาวก่วงโจวโดยกำเนิด ชี้ว่า “อันที่จริง ของเล่นในปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าของเล่นในสมัยก่อน ไม่ช่วยให้เด็กมีการพัฒนาทักษะต่างๆได้เท่ากับ การละเล่นแบบดั้งเดิม ที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และฝึกการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง”

“สังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ล้วนกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดกับลูกหลานของตนมากขึ้น ทำให้ไม่กล้าปล่อยให้เด็กๆไปเล่นกับกลุ่มเพื่อน หรือไม่กล้าละสายตาจากเด็ก พอเรียนเสร็จก็ไปรอรับกลับบ้าน แทนที่จะปล่อยให้เด็กอยู่แต่หน้าจอเกมส์คอมพิวเตอร์ ทางที่ดี พ่อแม่ควรฝึกหรือสอนลูกๆให้เล่นเกมการละเล่นแบบดั้งเดิมด้วยกัน และพอเด็กเล่นเป็น เขาก็จะไปชวนเพื่อนเล่น ขณะที่โรงเรียนก็ควรฝึกให้นักเรียนรู้จักการละเล่นของเด็กรุ่นก่อนๆเช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น