xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตต้องสู้ของผู้ประสบแผ่นดินไหวเมืองจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางพยาบาลที่“ศูนย์บำบัดฟื้นฟูเต๋อหยางสำหรับคนพิการ”เปลี่ยนขาเทียมอันใหม่ให้หลิว เสียวเจี้ยน - เอเจนซี่
เอเจนซี่ - ไม่มีใครดูออกเลยว่า ชายวัยกลางคน ที่กำลังเดินกลับไปกลับมาภายในห้องโถงรับแขกของ “ศูนย์บำบัดฟื้นฟูเต๋อหยางสำหรับคนพิการ” ผู้นั้น มีสิ่งที่แตกต่างไปจากคนปกติตรงไหน

จนกระทั่งเมื่อเขาทรุดนั่ง แล้วถอด “ขา” ด้านขวาของตนเองออกมาให้นางพยาบาลคนหนึ่งหยิบขึ้นมาตรวจสอบอย่างละเอียด

หลิว เสียวเจี้ยน เดินทางมายังศูนย์ เพื่อขอเปลี่ยนขาเทียม เพราะอันเดิม เขาใช้จนเสื่อมแล้ว หลิวมาจากย่านฮันหวัง เมืองเหมียนจู๋ ซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนักเมืองหนึ่ง เมื่อครั้งแผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์ในมณฑลเสฉวนเมื่อปี 2551 บ้านของหลิวพังถล่ม ส่วนเขาสูญเสียขาข้างขวา
ผู้ป่วยกำลังฝึกหัดเดินที่“ศูนย์บำบัดฟื้นฟูเต๋อหยางสำหรับคนพิการ” ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2554 – เอเจนซี่
“ผมนึกเห็นภาพตัวเองเป็นคนพิการไม่ได้หรอก เพราะผมเป็นคนเดียว ที่หาเลี้ยงครอบครัว” หลิวเล่า

เขาสารภาพว่า แอบร้องไห้คนเดียวอยู่หลายครั้ง หลังจากแผ่นดินไหว

นางพยาบาลใช้เครื่องมือเล็ก ๆคล้ายไขควงปรับขาเทียมข้างใหม่อย่างระมัดระวัง เพื่อให้สวมใส่ได้สบาย แล้วขอให้หลิวลองสวม และเดินให้ดู

“เดี๋ยวนี้ผมเดินได้ปกติเหมือนคนอื่นแล้ว มีขากางเกงคลุม ก็ไม่มีมองเห็นความลับ แล้วล่ะครับ” หลิวกล่าวอย่างดีใจมาก และชูนิ้วหัวแม่โปงชื่นชมการทำงานของนางพยาบาล

หลิวรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณศูนย์แห่งนี้อย่างมาก ที่ทำให้เขาลุกขึ้นเดินได้อีกครั้ง หลิวออกจากโรงพยาบาลเมื่อต้นเดือนก.ย. 2551 พร้อมกับ “ขาข้างใหม่” และสามารถรับจ้างทำงาน ซึ่งใช้แรงงานเบา ๆ เช่น ซ่อมกุญแจประตู

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลิวเปลี่ยนขาเทียมแล้วถึง 7 ครั้ง และรับจ้างทำงานต่าง ๆ เช่นเกี่ยวข้าว และเป็นคนงานก่อสร้าง
“ผมยกของน้ำหนักไม่เกิน 75 กิโลได้สบายเหมือนหยิบขนม” เขาคุยอย่างภาคภูมิใจ

ทางศูนย์มีบันทึกข้อมูลของคนไข้ทุกคนอย่างละเอียด และให้บริการทุกอย่างฟรี

“ ถ้าผมจำเป็นต้องเปลี่ยนขาเทียมอันใหม่ ผมเพียงแค่โทรศัพท์แจ้งทางศูนย์ล่วงหน้าเท่านั้น” เขากล่าว

“ศูนย์บำบัดฟื้นฟูเต๋อหยางสำหรับคนพิการ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. 2551โดยความร่วมมือระหว่างสภากาชาดฮ่องกงกับสมาพันธ์คนพิการแห่งเต๋อหยางด้วยเงินที่ชาวฮ่องกงช่วยกันบริจาคเป็นจำนวน 68 ล้านหยวน ทางศูนย์ให้การรักษาและบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น 1,377 รายเมื่อสิ้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

นายปีเตอร์ ซัง หัวหน้าฝ่ายเทคนิคจากฮ่องกงระบุว่า ศูนย์ให้การดูแลในระยะยาวทั้งด้านอาชีพและสภาพจิตใจ นอกจากนั้นภายในบริเวณศูนย์ยังเป็นโรงงานขาเทียม ซึ่งผลิตโดยทีมคนงานรุ่นหนุ่มสาว ที่ผ่านการฝึกการทำขาเทียมจากสถาบันเฉพาะด้านมาอย่างน้อย 3 ปี จากนั้น ยังต้องผ่านการฝึกอบรมด้านอาชีพเพิ่มเติมอีกหลายปี ในส่วนของนายซังเองนั้น ทำงานในด้านขาเทียมและกายอุปกรณ์มานานถึง 38 ปีแล้ว

นายซังระบุว่า ผู้ป่วยร้อยละ30-40 ของศูนย์จำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้านจิตใจ เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัวทำใจได้ ที่ต้องสูญเสียแขนขา นอกจากนั้น ทางศูนย์ยังช่วยดูแลปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต เมื่อผู้ป่วยกลับไปบ้าน เช่น หากผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็น ทางศูนย์ก็จะออกแบบทางลาดตรงหน้าบ้าน เพื่อให้สะดวกขึ้น

ทางศูนย์ให้คำมั่นให้การรักษาดูแลผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านอาหารการกินระหว่างมาพักรักษาตัว หรือแม้กระทั่งค่าเดินทางของญาติพี่น้อง ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย ดังนั้น การได้รับการสนับสนุนด้านเงินบริจาคจากผู้มีจิตเมตตาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น