เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิแรงงานฮ่องกงเผยผลสำรวจจากการสัมภาษณ์แรงงานฟ็อกซ์คอนน์ 120 คนบนแผ่นดินใหญ่ เมื่อวันอังคาร (3 พ.ค.) ว่า “บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของไต้หวันฟ็อกซ์คอนน์ ปฏิบัติต่อพนักงานเยี่ยงเครื่องจักรกลอันไร้ชีวิต”
เมื่อปีที่ผ่านมา (2553) เกิดเหตุการณ์พนักงานฟ็อกซ์คอนน์อัตวินิบาติกรรม 13 ราย โดยกลุ่มสิทธิแรงงานฯ ได้ออกมาประณามเงื่อนไขการทำงานของบริษัทที่เข้มงวดเกินไป จนกรณีอื้อฉาวนี้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญจุดชนวนกระแสเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแรงงานในโรงงานอื่น ๆ ของจีน
กลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการต่อต้านบรรษัทที่ประพฤติไม่เหมาะสม (SACOM) เผยรายงานว่า “ลูกจ้างของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป โดยมีรูปแบบการทำงานเข้มงวดคล้าย ๆ กับการฝึกทหารเลยทีเดียว”
“กลุ่ม SACOM ถึงกับตกใจ เมื่อได้เห็นเงื่อนไขการทำงานที่เลวร้ายมาก” รายงานของกลุ่มระบุ พร้อมชี้ว่า “ลูกจ้างแรงงานบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ต้องทำงานล่วงเวลา 80-100 ชั่วโมงต่อเดือน นอกเหนือไปจากเวลาที่ต้องทำปกติเดือนละ 174 ชม. ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายจีนกำหนดไว้ถึง 3 เท่า”
“แรงงานส่วนมากต้องการทำงานล่วงเวลาให้มากที่สุดเพราะว่าเงินเดือนปกติไม่พอประทังชีวิต” SACOM กล่าว โดยชี้ด้วยว่า แรงงานแต่ละคนได้เงินจิบจ้อยเพียงเดือนละ 200 ดอลลาร์เท่านั้น (ประมาณ 6,000 บาท)
นอกจากนั้นทางกลุ่มฯ ยังชี้ด้วยว่า บรรดาแรงงานต้องทำงานถึงวันละ 10 ชั่วโมงทำให้ต้องเลื่อนการพักรับประทานอาหารออกไปโดยแต่ละวันไม่ตรงเวลาและไม่แน่นอน ขณะที่ลูกจ้างใหม่จะต้องถูกฝึกความอดทนเยี่ยงทหาร
เนื้อหาของการฝึกทางทหารนั้นก็มีการยืน จัดแถว ผู้คุมจะถามคนงานหลายสิบคนให้เข้าแถวตามคำสั่ง และจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยคนงานถูกสั่งให้ยืนคล้ายทหารนานหลายชั่วโมง
นอกจากนั้น หากมีความผิดพลาดในการทำงานก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก คนงานบางคนถูกบังคับให้เขียน “จดหมายสารภาพ” และอ่านเสียงดังให้เพื่อนร่วมงานฟัง
เมื่อเอเอฟพีติดต่อไปยังบริษัทฯ โฆษกบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ไม่สนใจข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยพูดว่า บริษัทจะจัดการกับประเด็นนี้อย่างเต็มที่หลังจากอ่านรายงานนี้จบแล้ว
ฟ็อกซ์คอนน์เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนสินค้าสำหรับแอปเปิล โซนี และโนเกีย ที่ใหญ่สุดในโลก โดยบริษัทได้จ้างคนงานประมาณล้านคนในประเทศจีน โดยครึ่งหนึ่งปักฐานการผลิตอยู่ในเซินเจิ้น
หลังจากเกิดกระแสฆ่าตัวตายหลายราย ฟ็อกซ์คอนน์ก็ได้หามาตรการมายับยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการติดตาข่ายเหนือตึกสูงป้องกันคนโดดตึก เพิ่มค่าจ้างแรงงาน และฟื้นฟูกำลังใจสำหรับคนงาน
อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ก็ยังมองว่าการที่ฟ็อกซ์คอนน์ออกมาตรการใหม่โดยจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม เปิดศูนย์ดูแล ฮ็อตไลน์สายด่วนให้คนงานหลังกระแสฆ่าตัวตายแพร่สะพัดนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะว่าเงื่อนไขในการจัดการกับพนักงานยังคงหนักหน่วงเช่นเดิม คนงานไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันในกระบวนการสายพานผลิต พวกเขารู้สึกว่า “เขาเป็นเครื่องจักร” ไปเสียแล้ว
ขณะนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ขยายพื้นที่การผลิตไปในจีนตอนกลาง เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายในฐานฯ ที่เซินเจิ้น