ASTVผู้จัดการออน์ไลน์—ในกลางเดือนเม.ย. กลุ่มสื่อจีนได้นำเสนอชีวิตหนุ่มใหญ่ชาวเหอหนัน นาย ซุน ไหวจง คนงานตกงานที่ดั้นด้นมายังกรุงปักกิ่ง และได้กลับกลายมาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสืบสานศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านของปักกิ่งอายุกว่า 150 ปี ที่กำลังสูญหาย คือ “เหมาโหว” (毛猴) โดยทนใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก แทนที่จะคิดหางานอื่นทำ ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สบายกว่า
ซุน ไหวจง วัย 55 ปี ได้เดินทางจากบ้านเกิดบ้านเกิดในเหอหนัน เข้ามาหางานทำในกรุงปักกิ่งเมื่อ 10 ปีก่อน เขาทำงานสารพัดเพื่อเลี้ยงชีพอยู่รอดในเมืองหลวง จนวันหนึ่งเขาได้ดูรายการโทรทัศน์ ที่นำเสนอเรื่องราวหัตถกรรมพื้นบ้านปักกิ่ง คือ ตุ๊กตาลิง "เหมาโหว" ก็เกิดแรงบันดาลใจจะประดิษฐ์หัตถกรรมจีนชิ้นนี้ ด้วยมีพื้นฐานประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ศิลปะมาก่อน เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมโดยการสอบถามเรียนรู้จากบรรดาครูศิลปินประดิษฐ์หัตกรรมที่มีชื่อเสียง ฝึกปรือฝีมือ จนปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านของปักกิ่งที่กำลังสูญหายไปชิ้นนี้ อย่างเต็มภาคภูมิ
นายซุน เผยว่า “งานฝีมือนี้ มีคุณค่ามาก เมื่อคนรู้จักหัตถกรรมชิ้นนี้มากขึ้น ก็จะดำรงอยู่ต่อไป”
นายซุน อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆที่มีพื้นที่ใช้สอยราว 10 ตารางเมตรย่านพานจยาหยวนชานกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นทั้งห้องทำงาน ห้องนอน ห้องครัว ในแต่วันเขาและภรรยาออกจากบ้านราว 7 โมงเช้า นั่งรถประจำทาง ต่อรถไฟใต้ดิน เพื่อนำ “เหมาโหว” ไปขายที่สวนวังหยวนหมิงหยวน ซุนต้องเสียค่าเช่าที่ตั้งแผงขาย “เหมาโหว” เดือนละ 3,000 หยวน ขณะที่มีรายได้จากการขยายเหมาโหวได้ไม่มากนัก ต้องสู้ชีวิตอย่างลำบาก บ่อยครั้งที่ภรรยาของเขาบ่นถึงชีวิตที่ลำบาก ทำไมถึงต้องดิ้นรนทนชีวิตที่ลำบากในเมืองหลวง มิสู้กลับบ้านเกิด ชีวิตอาจสบายกว่านี้
แต่นายซุน ยืนกรานว่า “ผมมุ่งมั่นที่จะเป็น “ศิลปินรากหญ้า” ของท้องถิ่นนี้แล้ว ผมรัก “เหมาโหว” ผมสร้างสร้างชีวิตเหมาโหว ไม่ใช่เพื่อเงิน ผมมีเป้าหมายแน่วแน่ที่จะแสดงวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชิ้นนี้ ให้ผู้คนได้รู้จักเหมาโหว รักเหมาโหว โดยเฉพาะอยากให้คนหนุ่มสาวรู้จัก เรียนรู้ และช่วยกันสร้างเหมาโหว เพื่อให้ศิลปะหัตถกรรมชิ้นนี้ มีชีวิตสืบไป”
*ชุดภาพชีวิตซุน ไหวจง และการประดิษฐ์หัตถกรรม "เหมาโหว โดยไชน่า เดลี่
กำเนิด “เหมาโหว”
สำหรับ “เหมาโหวปักกิ่ง” 北京毛猴 มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ คราบจั๊กจั่นจีน (中国蝉蜕) ส่วนชื่อ เหมาโหว คำจีนที่แปลว่า “ลิงขน” นั้น ไม่ใช่ตัวลิงสายพันธุ์ใด แต่เป็นชื่อของหัตถกรรมพื้นบ้านปักกิ่งนี่เอง หัตถกรรม “เหมาโหว” กำเนิดในสมัยราชวงศ์ชิง โดยมีเรื่องเล่ากันว่า เด็กจัดยาในร้านขายยาชื่อ “หนันชิ่งเหรินถัง” ของย่านเซวียนอู่เหมิน กรุงปักกิ่ง ถูกเจ้าของร้านยาดุว่าอย่างรุนแรงในตอนบ่ายวันหนึ่ง เมื่อปิดร้านแล้วเด็กจัดยาเก็บ “คราบจั๊กจั่น” ซึ่งเป็นยาจีนชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังเก็บก็เกิดจินตนาการเห็นคราบจั๊กจั่น ละม้ายคล้ายกับรูปใบหน้าแบบ “ปากแหลมคางลิง” ของเจ้าของร้านขายยาที่ดุว่าตน จึงหยิบหน่อของดอกไม้ซึ่งเป็นยาจีนชนิดหนึ่ง มาประดิษฐ์เป็นลำตัว เด็ดจมูกจั๊กจั่นมาทำเป็นศีรษะ ขาหลังเป็นขา ขาหน้าเป็นแขน โดยใช้กาวยึดติดเข้าไว้ จนออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดจิ๋ว”คนก็ไม่ใช่ ลิงก็ไม่เชิง” ว่ากันว่านี่คือ “เหมาโหว” ตัวแรก ที่ต่อมากลายเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของกรุงปักกิ่ง โดยมีการพัฒนาประดิษฐ์อย่างประณีตงดงาม เป็นตัวแทนแสดงศิลปะวัฒนธรรมจีน ที่น่าทึ่ง และมีชื่อเสียงเลื่องลือ.
*ภาพโดยเอเจนซีจีน