เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ชาวบ้านในเขตสุยเจียง มณฑลอวิ๋นหนาน(ยูนนาน) จำนวนมากกว่า 2,000 คน รวมตัวปิดกั้นถนน ประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกเวนคืนที่อยู่อาศัยและที่ดินเพาะปลูก เพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
ศูนย์ข้อมูลเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง เผย(31มี.ค.) ว่า ชาวบ้านราว 2,000 - 3,000 คน ในเขตสุยเจียง มณฑลอวิ๋นหนาน ได้มารวมตัวกันเมื่อวันศุกร์(25มี.ค.) พร้อมกับปิดกั้นถนนในวันถัดมา และเมื่อวันอังคาร(29มี.ค.) ได้เกิดเหตุปะทะรุนแรง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธ ราว 1,500 นาย ได้เข้ามาสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 50 คน เป็นชาวบ้าน 30 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 20 คน
ขณะที่ รัฐบาลท้องถิ่นสุยเจียง ระบุ เหตุปะทะครั้งรุนแรงนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 17 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นได้รับบาดเจ็บอีก 5 คน
กลุ่มสิทธิมนุษยชน เผยว่า ชาวบ้านผู้ประท้วงได้ขว้างอิฐใส่กลุ่มตำรวจที่พยายามเข้ามาจับกุม ขณะที่ รายงานข่าวระบุว่า มีการส่งยานพาหนะหุ้มเกราะเข้ามาเสริม ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงต้องล่าถอยในที่สุด
หลู กวงฝู พยานรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เผยว่า “เราผิดหวังมาก ที่ไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจากการถูกเวนคืนที่ดินและที่อยู่อาศัย”
พร้อมเผยว่า “เรารู้สึกโกรธมากขึ้น เมื่อทราบว่า ผู้ถูกเวนคืนที่ ซึ่งอยู่อาศัยในอีกฟากของแม่น้ำ และอยู่ในความดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นซื่อชวน ได้รับเงินสงเคราะห์พิเศษสำหรับที่อยู่อาศัย คิดเป็นตารางเมตรละ 4 หยวน และได้รับค่าชดเชยที่ดิน 28,000 หยวนต่อ 1 หมู่(亩)(1 หมู่เท่ากับ 0.4 ไร่) ขณะที่ ทางการท้องถิ่นมาบอกกับพวกเราซึ่งเป็นชาวบ้านอวิ๋นหนัน ว่า จะได้เงินช่วยเหลือสำหรับที่อยู่อาศัยแค่ตารางเมตรละ 1 หยวน และได้รับค่าชดเชยที่ดินหมู่ละ 17,000 หยวน”
ชาวบ้านผู้ไม่เผยนามอีกคนหนึ่ง กล่าวเสริมว่า “ยิ่งไปกว่านั้น เรายังต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เป็นจำนวน 2,000 หยวน สำหรับบ้านหลังใหม่ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เราย้ายไป”
ศูนย์สิทธิมนุษยชน เผยว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ส่งผลให้ชาวบ้านในเขตสุยเจียง ราว 40,000 คน พร้อมกับชาวบ้านในเขตผิงซาน และในบางพื้นที่ของมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) อีกราว 60,000 คน ต้องย้ายออกไป
ทั้งนี้ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเซี่ยงจยาป้า(向家壩) ตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง ในมณฑลอวิ๋นหนาน เป็นที่คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6,400 เมกะวัตต์ โดยเริ่มกำหนดการสร้างในปี 2555 และจะแล้วเสร็จในปี 2558