xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนร้านสไตล์ “DIY” กิจการแคระแกร็นในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ร้านบีแอนด์คิว ( B&Q) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งขายอุปกรณ์ปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน มีสภาพ ที่เกือบจะเรียกได้ว่า เงียบเป็นป่าช้า ไร้ลูกค้าย่างกรายเข้ามาหาเลือกหาซื้อข้าวของ

นี่คือสภาพความเป็นจริงที่ร้านค้าสไตล์“DIY” (do-it-yourself) จากชาติตะวันตก ซึ่งขายอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ที่ลูกค้าสามารถนำไปทำได้ด้วยตนเอง กำลังประสบในตลาดแดนมังกร

“Do-it-yourself ไม่เป็นที่นิยมในเมืองจีน” นายโชน เรน กรรมการผู้จัดการของไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป ระบุ

“ในเมืองจีนจะมีความรู้สึกกันว่า ถ้าคุณทำอะไรด้วยตัวเอง ก็หมายความว่าคุณเป็นชาวไร่ชาวนา ไม่ใช่คนแข็งแรงอย่างลูกผู้ชาย ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ ที่ร้านสไตล์“DIY”จากชาติตะวันตกสร้างขึ้นในอเมริกา” เขากล่าว

ปัจจุบัน ธุรกิจประเภทดังกล่าวกำลังถอนตัวจากตลาดแดนมังกร หรือลดขนาดธุรกิจลง แม้ว่าการขายบ้านที่อยู่อาศัยในจีนกำลังบูม และตลาดซ่อมแซมปรับปรุงบ้านโตถึงร้อยละ 15 ต่อปี และมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี2552 ก็ตาม

บริษัทบีแอนด์คิว ของอังกฤษ ซึ่งบรรยายสรรพคุณในเว็บไซต์ว่า “ผู้นำตลาดในจีน” เข้าเปิดกิจการในแดนมังกรเมื่อปี 2542 ทว่าต้องปิดร้านอย่างกะทันหันถึง 22 ร้านจากทั้งหมด 63 ร้านในปีที่แล้ว

ส่วน “โฮม ดีโพต์” (Home Depot) บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ซึ่งเข้าลงทุนในจีนเมื่อปี 2549 ต้องปิดร้านถึงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 7 ร้านในขณะนี้

ผู้ปราชัยรายล่าสุดในตลาดตกแต่งบ้านเมืองจีนได้แก่ “แซงต์-โกแบ็ง” (Saint-Gobain) กลุ่มธุรกิจก่อสร้างของฝรั่งเศส ได้ปิดร้านขายวัสดุก่อสร้าง “ลา เมซง” (La Maison) ที่มีอยู่ในจีนทั้งหมดแล้ว

“อาคารที่อยู่อาศัยในจีนส่วนมากเป็นกล่องคอนกรีต ถ้าจะตกแต่งซ่อมแซมก็ต้องขูดต้องขัดเสียก่อน ซึ่งเจ้าของบ้านน้อยรายรู้วิธีว่าจะทำยังไงด้วยตัวเอง” นายโจว เว่ย หัวหน้าฝ่ายการเงินของบริษัทโฆษณา “ชาร์ม คอมมูนิเคชั่นส์” (Charm Communications) ชี้

นอกจากนั้น ร้านค้าปลีกของต่างชาติเหล่านี้ยังขายสินค้าประเภทสายยางฉีดน้ำในสวน โต๊ะสำหรับปิกนิก และตะแกรงย่างบาร์บีคิว ซึ่งล้วนขายได้น้อยในจีน เนื่องจากคนจีนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอาคาร ซึ่งไม่มีเฉลียงสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน

ส่วนสินค้า DIY ที่ขายได้ ทั้งบีแอนด์คิว และโฮม ดีโพต์ ก็ตั้งราคาไว้สูงกว่าสินค้าของบริษัทคู่แข่งชาวจีนอย่างมาก

ชายแซ่ติง ลูกค้าคนหนึ่งของร้านบีแอนด์คิวในกรุงปักกิ่งระบุว่า เขาจะซื้อสินค้าสำคัญ ๆ อย่างอุปกรณ์ติดตั้งท่อน้ำสำหรับอพาร์ตเมนต์ ซึ่งเขากำลังปรับปรุงใหม่จากร้านนี้ เพราะเชื่อว่า มีคุณภาพดีกว่าของในท้องถิ่น แม้ราคาจะแพงไปสักหน่อยก็ตาม ส่วนอุปกรณ์อย่างอื่นนั้น เขาจะให้มัณฑนากร ที่เขาว่าจ้าง ไปซื้อที่ร้านของชาวจีน เพราะราคาถูกกว่า

ด้านนาย รอน เดอฟีโอ โฆษกของโฮม ดีโพต์ ยอมรับว่า บริษัทตัดสินใจผิดพลาด นับตั้งแต่เข้ามาเปิดกิจการในจีนเมื่อกว่า 4 ปีก่อน และได้เรียนรู้อีกเยอะ

“ร้านของเราจำลองรูปแบบตามตลาดอเมริกัน และตามรูปแบบDIY แต่จีนเป็นมากกว่านั้น คือเป็นตลาดแบบDIFM หรือ do-it-for-me” เขาเข้าถึงสัจธรรม

ปัญหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งนายนิโกลา นี โฆษกของแซงต์-โกแบ็งมองเห็นก็คือที่อยู่อาศัย ซึ่งขายกันในเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่นนครเซี่ยงไฮ้ มักตกแต่งให้เสร็จอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ มิใช่ร้านค้าอุปกรณ์ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของต่างชาติเท่านั้น ที่พยายามค้นหาสูตร ที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแดนมังกร บริษัทผู้ผลิตของเล่นของสหรัฐฯ อย่างแม็ตเทลก็จำต้องปิดกิจการร้านขายตุ๊กตาบาร์บี้แห่งเดียวในเซี่ยงไฮ้เมื่อไปนาน เช่นเดียวกับ“เบสต์ บาย” (Best Buy) บริษัทยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคของสหรัฐฯ ก็ได้ปิดกิจการในจีนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องเผ่นแน่บก็เพราะสู้บริษัทคู่แข่งชาวจีนไม่ได้ โดยบริษัทชาวจีนเปิดร้านสาขาทั่วประเทศมากกว่า มีทำเลที่ตั้งสะดวกกว่า และมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นสูงกว่านั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น