xs
xsm
sm
md
lg

นิทานเซน : สวรรค์หรือนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
《地狱》

คราหนึ่งอาจารย์เซนรับศิษย์หลายราย ทว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วยังไม่มีผู้ใดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะศึกษาปรัชญาเซน เนื่องเพราะผู้มาใหม่เหล่านี้ล้วนยังติดกับความสุขสบายภายนอก มีทั้งผู้ที่ตะกละ เกียจคร้าน เลี่ยงงาน ดังนั้นอาจารย์เซนจึงได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้เหล่าลูกศิษย์ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า...
ภาพจาก http://blog.163.com/
 
ยังมีคนผู้หนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณก็ได้ออกจากร่างล่องลอยไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะถึงประตูทางเข้านายทวารได้เอ่ยถามขึ้นว่า

"เจ้าชอบกินอาหารใช่ไหม?...ที่นี่มีอาหารเลิศรสมากมายให้เจ้ากิน
เจ้าชอบนอนหลับด้วยใช่ไหม?...ที่นี่เจ้าจะนอนนานเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรบกวน
และเจ้ารักความสนุกสนานใช่ไหม?...ที่นี่มีกิจกรรมสนุกๆ มากมายให้เจ้าเลือกทำ
อีกทั้งเจ้ายังรังเกียจการทำงานใช่หรือไม่?...พอดีที่นี้รับประกันได้ว่าเจ้าจะไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่มีใครวุ่นวายกับเจ้าแน่นอน"

วิญญาณผู้มาใหม่ได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจเป็นอันมาก เข้าใจว่าตนเองมาถึงประตูสวรรค์แล้ว จึงตกลงใจอยู่ที่นี่ และผ่านวันเวลาไปด้วยการกิน นอน เล่น กิน นอน เล่น วนเวียนไปเรื่อยๆ อย่างสำราญใจ

วันเวลาผ่าไป 3 เดือน วิญญาณเริ่มรู้สึกไร้รสชาติ อาหารและความสุขสบายที่ได้รับเริ่มกลายเป็นความจำเจ น่าเบื่อหน่าย จึงได้ตัดสินใจไปพบนายทวารพลางกล่าวว่า "วันเวลาเช่นนี้ นานๆ เข้ากลับไม่มีอันใดดี เนื่องเพราะข้าเล่นมากเกินไปจนไม่เหลืออะไรที่น่าสนุกสำหรับข้าอีก กินอิ่มเกินไปจนอ้วนเอาอ้วนเอา นอนมากเกินไปจนสติปัญญาเชื่องช้าเลอะเลือน ไม่ทราบว่าท่านมีงานอะไรให้ข้าทำบ้างหรือไม่?"

นายทวารตอบว่า "ขออภัยด้วย ที่นี้ไม่มีงานอันใด"

เวลาผันผ่านไปอีกกว่า 3 เดือน วิญญาณนั้นทนต่อไปไม่ไหวแล้ว จึงไปพูดกับนายทวารอีกครั้งว่า "ข้าทนอยู่ในสภาพนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว หากท่านยังไม่ยอมมอบงานอื่นใดให้ข้าทำ ข้ามิสู้ไปอยู่ในนรกยังจะดีเสียกว่า!"

นายทวารจึงย้อนถามกลับไปว่า "เจ้าคิดว่าที่นี่คือสวรรค์หรืออย่างไร? แท้จริงแล้วที่นี่คือนรก! เพราะที่นี่ทำให้เจ้าไม่ต้องคิด ไม่ต้องสร้างสรรค์ ไม่มีอนาคต ได้แต่เสื่อมสลายไปเรื่อยๆ การทรมานลักษณะนี้กลับทุกข์ระทมยิ่งกว่าการปีนภูเขาที่เต็มไปด้วยมีด หรือการลงไปอยู่ในกระทะทองแดงด้วยซ้ำ เนื่องเพราะมันกัดกร่อนไปถึงจิตวิญญาณของเจ้า!"

ที่มา : หนังสือ 《菩提树下听禅的故事》, 惟真 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 中国华侨出版社, 2004.08, ISBN 7-80120-851-X
กำลังโหลดความคิดเห็น