เอเยนซี - สื่อตะวันตกเผย 2 ปีที่ผ่านมา จีนปล่อยเงินกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนามากกว่าธนาคารโลก ชี้เป็นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และส่งเสริมการใช้เงินหยวนเป็นสกุลหลักฯ ของการค้าระหว่างประเทศ
หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงาน (18 ม.ค.) ผลสำรวจที่รวบรวมจากประกาศของธนาคารและรัฐบาลจีน ว่า ในช่วงปี 2552 -2553 ธนาคารเพื่อการพัฒนาและธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกฯ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลจีน ได้ปล่อยเงินกู้อย่างน้อย 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา เทียบเคียงในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว มากกว่าธนาคารโลก ซึ่งปล่อยเงินกู้ทั้งสิ้น 100,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท)
ไฟแนนเชียล ไทมส์ กล่าวว่าเงินกู้ที่จีนปล่อยให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานี้ สะท้อนสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐบาลจีนกับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น จากที่ผ่านมาเติบโตโดยการพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งเป็นชาติพัฒนาแล้ว
รายงานข่าวกล่าวว่า จีนมีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติสูง ได้ปล่อยเงินกู้ปริมาณมหาศาลให้กับประเทศผู้ผลิตพลังงานฯ ซึ่งประสบปัญหาในช่วงวิกฤติการเงินโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนเข้าไปสนับสนุนกิจการของรัฐหลายแห่งให้ซื้อสินทรัพย์และวัตถุดิบทั่วโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน ธนาคารแห่งประเทศจีน ได้ขยายวงเงินกู้ อันมีเงื่อนไขที่ให้สิทธิพิเศษ และมีข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจมากกว่าสินเชื่อของธนาคารโลก โดยแลกเปลี่ยนกับการรับประกันการจัดส่งน้ำมันให้ และยังให้กู้เงินสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย บราซิล เวเนซุเอล่า อาร์เจนติน่า และกานา
ทั้งนี้ จีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราวๆ 60 ล้านล้านบาท) เงินกู้ที่ปล่อยออกไปส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินหยวน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในอนาคต ที่สนับสนุนให้ทั่วโลกหันมาใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้น ขณะสัดส่วนการปล่อยกู้ของจีนที่สูงกว่าธนาคารโลกนี้ ทำให้ธนาคารโลกต้องพิจารณาประสานกับจีนเพื่อป้องกันปัญหาการแข่งขันกันปล่อยเงินกู้