xs
xsm
sm
md
lg

ฮั่นตะวันออก (คริสตศักราช 25 – 220)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นับแต่หวังหมั่ง (王莽)ถอดถอนหยูจื่ออิง (孺子婴)ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ซิน (新朝) ขึ้น แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง (赤眉军)ที่นำโดยฝานฉง(樊崇)จากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน (绿林军)ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว (刘秀)จากหูเป่ย เป็นต้นโดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด 
          
          ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน เมื่อถึงกลางปีคริสตศักราช 25 หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า กวงอู่ตี้ (光武帝)และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยัง


ภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน เมื่อถึงปีรัชสมัยที่ 12 ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อถึงรัชสมัยหมิงตี้ (明帝)ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในรัชสมัยจางตี้ (章帝)และเหอตี้ (和帝) ถึงกับมีการเดินทางออกไปติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนฝั่งตะวันตก เพื่อสานต่อแนวการค้าบนเส้นทางสายไหม ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าที่ดินทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ต่างก็อยู่ในช่วงสั่งสมกำลังบารมี ภายหลังรัชสมัยเหอตี้ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้น มักปรากฏว่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางผลัดกันหรือร่วมมือกันเข้ากุมอำนาจในระหว่างการผลัดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง ในสี่รัชสมัยต่อมาอันได้แก่ ซุ่นตี้ ช่งตี้ จื้อตี้และเหิงตี้ กษัตริย์ทั้ง 4 มีเชื้อพระวงศ์เหลียงจี้ (梁冀)คอยเป็นที่ปรึกษาว่าราชการให้ถึง 20 ปี สั่งสมเงินทองทรัพย์สินกว่า 3,000 ล้าน


ภายหลังยุคกลางของฮั่นตะวันออก กลุ่มครอบครัวตระกูลใหญ่เข้ากุมอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดสภาพเป็นขั้วการเมืองแบบผูกขาด เมื่อถึงยุคปลายของฮั่นตะวันออก ได้เกิดกระแสการวิพากษ์การเมืองจากกลุ่มปัญญาชนและขุนนางผู้น้อยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง หลังสิ้นรัชสมัยเหิงตี้ เหล่าขุนนางก็ยิ่งฮึกเหิมในอำนาจ ถึงกับมีการซึ้อขายตำแหน่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย อำนาจบ้านเมืองล่มสลาย สังคมเต็มไปด้วยคนจรไร้ถิ่นฐาน เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

เมื่อถึงรัชสมัยหลิงตี้ (灵帝)เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนท้ายสุดหลงเหลือเพียง 3 กลุ่มอำนาจใหญ่นั่นคือ วุ่ย (魏) สู (蜀)และอู๋ (吴)หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ‘สาม ก๊ก’(三国)นั่นเอง


สำหรับความเจริญก้าวหน้าในด้านวัฒนธรรมและวิทยาการในสมัยฮั่นตะวันออกนั้นมีมากมาย อาทิ ในยุคต้นของราชวงศ์ ก่อเกิดนักคิดแนววัตถุนิยมที่โดดเด่นคือหวังชง (王充)ส่วนการศึกษาทางประวัติศาสตร์ก็มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์ชนชาติฮั่น (汉书)ทางด้านวรรณคดีที่เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยได้แก่บทความเชิงปกิณกะและเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ในช่วงปลายราชวงศ์ยังก่อเกิด สัตตกวีแห่งยุค ได้แก่ข่งหยง เฉินหลิน หวังชั่น สวีกั้น หยวนอวี่อิงหยังและหลิวเจิน (孔融、陈琳、王粲、徐干、阮瑀、应瑒、刘桢)ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่นส่งอิทธิพลถึงยุคสามก๊กในเวลาต่อมา


ในช่วงกลางของฮั่นตะวันออก ยังมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง จางเหิง (张衡)ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักกวี และนักวิชาการ โดยเขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาวและเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่สามารถใช้ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย ในรัชสมัยเหอตี้ ก็ยังมีไช่หลุน (蔡伦)ผู้ซึ่งได้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตกระดาษจากพืช ซึ่งทำให้ราคากระดาษถูกลง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อชาวโลกครั้งยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆในด้านการเกษตร การคำนวณและการแพทย์ ต่างก็ประสบความก้าวหน้าใหญ่ ศาสนาพุทธและเต๋าที่ทรงอิทธิพลล้ำลึกทางความคิด วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในสังคมจีน ก็ล้วนเจริญรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้เอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น