xs
xsm
sm
md
lg

จีนประท้วงโอบามาพบทะไล ลามะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะไล ลามะ พบผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาววันที่ 18 ก.พ. หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยกับประธานาธิบดีโอบามา-รอยเตอร์
เอเจนซี-จีนประท้วงสหรัฐอเมริกา กรณีประธานาธิบดีบารัก โอบามา พบปะกับทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เป็น “การละเมิดอย่างร้ายแรง” ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประธานาธิบดีโอบามา ได้พบปะกับทะไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ในวันพฤหัสฯ(18 ก.พ.) และได้กล่าวสนับสนุนสิทธิชาวทิเบต แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนยังดูตึงเครียดไม่ซางสืบเนื่องจากกรณีขัดแย้ง อาทิ กรณีรัฐบาลสหรัฐฯรับรองการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ความขัดแย้งนโยบายค่าเงินหยวน และการค้า การเซนเซอร์ทางอินเทอร์เน็ต และการที่โอบามาพบทะไล ลามะครั้งนี้ ก็เป็นการฝ่าฝืนคำเตือนของจีน ซึ่งจีนได้กล่าวหาทะไล ลามะ สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

อย่างไรก็ตาม แผนการต้อนรับทะไล ลามะ ของทำเนียบขาวก็เป็นไปอย่างระมัดระวังมาก ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐฯต้องการสกัดการประท้วงที่รุนแรงจากจีน โดยทำเนียบบขาวได้เชิญทะไล ลามะไปยังแมนชั่นส่วนตัวต้อนรับบุคคลสำคัญ ไม่ใช่สำนักงานรูปไข่ อีกทั้งไม่อนุญาตสื่อเข้าไปถ่ายภาพ

แต่ทะไล ลามะ วัย 74 ปี ก็มามุขแปลกที่ไม่ค่อยทำมาก่อน คือท่านได้ออกมาพบปะกับกลุ่มผู้สื่อข่าวหลังจากที่พูดคุยกับโอบามา และได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ท่านมีความสุขมาก กับการสนับสนุนของโอบามา

ทำเนียบขาวยังงดการเสนอภาพของการสนทนาเป็นเวลา 45 นาที ของทะไล ลามะ และโอบามา ซึ่งทั้งสองต่างได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และยังออกแถลงการณ์สนับสนุนเป้าหมายของทะไล ลามะในนามของนายโรเบิร์ต กิบบ์ส์ โฆษกทำเนียบขาว โดยหลังประชุมกับทะไล ลามะ โอบามาไม่กล่าวให้ความเห็นใดๆเลยต่อสาธารณะ

“ท่านประธานาธิบดีสนับสนุนอย่างแรงกล้าในการรักษาอัตลักษณ์ชนชาติทิเบต ทั้งศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวทิเบตในดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ท่านประธานาธิบดียังได้กล่าวถึงแนวทางสู่ “ทางสายกลาง” ของทะไล ลามะ แนวทางอหิงสา และผลักดันการเจรจากับรัฐบาลจีน” กิบบ์ส์ อ่านแถลงการณ์

ทั้งนี้ ทะไล ลามะ ได้ลี้ภัยออกจากบ้านเกิดไปยังอินเดียในปี 2502 และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ล่าสุดท่านได้แถลง “แนวทางสายกลาง” ในการเรียกร้องสิทธิการปกครองตัวเองที่มีความหมายมากขึ้นภายใต้การปกครองของจีน

แต่ผู้นำในปักกิ่งก็กล่าวหาทะไล ลามะ เอาการเทศนาธรรมมาบังหน้าในการเดินทางรอบโลก โดยมีแผนแบ่งแยกดินแดน ทั้งยังชี้ว่าแนวทางปรองดองของทะไล ลามะ ไร้ความจริงใจ

ในวันนี้(19 ก.พ.) รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศจีน ชุย เทียนข่าย ได้เชิญ Jon Hunstman เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่ง มารับแจ้งการประท้วง

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน นาย หม่า จาวซี่ว์ แถลงหลังจากที่โอบามาพบทะไล ลามะ ไม่กี่ชั่วโมง แสดง “ความไม่พอใจอย่างแรง” ต่อการพบปะของทั้งสอง และชี้ว่า “การกระทำของสหรัฐฯได้ละเมิดต่อหลักการและบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯสัญญาในแถลงกาณร์ร่วมว่าจะเคารพต่ออธิปไตยของจีน ต่อการรับรองว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจะไม่สนับสนุนอิสรภาพทิเบต”

“การกระทำของสหรัฐฯเป็นการแทรกแซงกิจการภายในจีนอย่างแรง ทำลายความรู้สึกประชาชนชาวจีน และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างร้ายแรง” แถลงการร์ของหม่า ในเว็บไซต์กระทรวงฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้ประกาศมาตรการลงโทษโต้ตอบความขัดแย้งครั้งนี้

ทั้งนี้ โอบามาเคยพยายามเลี่ยงที่จะทำให้จีนโมโหในกรณีพบปะกับทะไล ลามะที่ทำเนียบขาว โดยไม่ยอมพบทะไล ลามะ ในช่วงก่อนเดินทางมาเยือนปักกิ่งเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ด้วยความหวังว่าจะรักษาน้ำใจและจับมือกับคลี่คลายปัญหาต่างๆ อาทิ วิกฤตการเงินโลก วิกฤตโลกร้อน เป็นต้น

สำหรับทะไล ลามะ การพบปะกับโอบามาในวันพฤหัสฯ ทำให้ท่านได้บรรลุการพบปะกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งนับจากสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู บุช ปี 2534 นอกจากนี้ ทะไล ลามะ ยังได้พบกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นาง ฮิลลารี คลินตัน ท่ามกลางชาวทิเบตหลายร้อนคนที่มาต้อนรับ โบกธงทิเบต และร้องตระโกน “องค์ ทะไล ลามะ จงเจริญ อายุยิ่งยืนนาน! และ ขอบคุณ ประธานาธิบดีโอบามา!”
กำลังโหลดความคิดเห็น