xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องที่จีนต้องพูด? บนเวทีดาวอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผมยังไม่รวย จะมาอะไรนักหนา...ครับ อาจจะเป็นประโยคที่บรรดานักวิเคราะห์ฝั่งจีนหลายคน อยากให้รองนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง กล่าวบนเวทีดาวอสเหลือเกิน (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี-สื่อจีนรายงานคำกล่าวของ รองนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ในวันที่ 28 ม.ค. ว่าจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยอมรับว่าการเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิถีทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลี่ กล่าวในการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิร์ล์ด อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วันที่ 28 ม.ค. ว่า จีนจะเพิ่มการจ้างงานและรายได้ต่อหัวของผู้ยากจน และรัฐบาลจะผูกขาดกิจการต่างๆ น้อยลง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็จะบูรณาการกับเศรษฐกิจการค้าโลกมากขึ้น

จีนซึ่งเพิ่งจะแซงหน้าเยอรมนี เป็นผู้ส่งออกหมายเลขหนึ่งของโลก แต่ หลี่ก็กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ "พึ่งการลงทุนและการส่งออกมากเกินไป"

จีนซึ่งขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าญี่ปุ่นมาเป็นอันดับสองของโลกแล้ว ได้รับความสนใจในเวที ดาวอส ปีนี้ และยังถือเป็นตัวแทนของสิทธิและเสียงที่ดังขึ้นจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จนเกิดอุปทานคาดหมายไปต่างๆ ว่า จีนจะสามารถเล่นบทนำหัวรถจักรเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่

คริสติน ฟอร์ซ อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ของทำเนียบขาว ถึงกับกล่าวว่า "จีนเป็นทั้งความหวังและความหวาดหวั่นของโลกตะวันตก"

การสนทนาถึงบทบาทของจีนท่ามกลางและหลังวิกฤตการเงินทั่วโลก ระอุในหมู่สื่อตะวันตก โดยเฉพาะช่วงเวทีสนทนานี้ ที่มีผู้นำจากภาคธุรกิจ ภาครัฐและภาคสังคม กว่า 2,500 คน จากกว่า 90 ประเทศ เข้าร่วมฯ

บรรดานักการเมือง นายธนาคาร และนักการเงินชาติตะวันตก ต่างพุ่งเป้าโจมตีจีน ด้านนโยบายการเงินการค้า และการสกัดกั้นการเติบโตที่ส่อเค้าร้อนเกิน ในการแถลงคำปราศรัยวันแรกของการประชุมฯ โดยประธานาธิบดี นิโคลัส ซาร์โคซี แห่งฝรั่งเศส ก็เปิดฉากโจมตีจีน ชี้ว่าความไม่สมดุลด้านการค้าโลก กำลังทำลายการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยปมปัญหาความไม่สมดุลนี้ มีใจกลางอยู่ที่ค่าเงิน

ทั้งนี้ ชาติตะวันตกต่างรุมกดดันกับผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของโลกรายใหม่นี้ ด้วยคาดหวังจะผูกมัดจีนให้สร้างเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน และการแข่งขันที่เป็นธรรม

บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจจีน ออกมากล่าวทำนองว่า จีดีพีขนาด 8.7 ของจีน คือกำลังสำคัญที่ช่วยฉุดหัวจักรเศรษฐกิจโลก จนพ้นหล่มเหวมาก็จริง แต่ก็เป็นทั้งคำชมและคำที่ใช้หยิบยกมาอ้างจนจะทำให้จีนลำบาก และว่าท่ามกลางความคาดหวังแบบระแวงใจอยู่ในทีนี้ จีนไม่ควรทำอะไรๆ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกจนเกินตัว

หวัง ต่ง นักวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง บอกว่า "เมื่อจีนโตขึ้นแล้ว ก็ควรทำมากขึ้นในการแก้ปัญหาของโลก แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่เกินกำลังของตัวเอง"

ในเรื่องค่าเงินนั้น ที่ผ่านมา จีนก็ได้ช่วยเหลือด้วยโครงการต่างๆ เช่น การลงนามความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรา กับประเทศเพื่อนบ้านคู่ค้า เพื่อช่วยให้มีความมั่นคงทางการเงินในภูมิภาคฯ

หวังบอกว่า แม้จีนจะยังคงเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับถูกตั้งความคาดหวังเหลือเกิน กับภารกิจกอบกู้โลก

หยัง เมี่ยน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการสื่อสารฯ ของจีน กล่าวถึงความคาดหวังนี้ว่า ทั้งหมดคงมาจากการขาดความเข้าใจในสถานการณ์จริงของจีน โดยชาวต่างชาติจำนวนมากมาจีน แต่ก็เห็นแค่ภาพของเมืองระดับ "มหานคร" เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมาตรฐานชีวิตที่นั่นสูงมาก แต่การพัฒนาโดยรวมของจีนยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่สม่ำเสมอ คนในชนบทอีกมากมีสภาพฯ ต่างจากคนในกรุงปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ราวฟ้ากับเหว

"เราไม่ควรจะเหลิงกับคำเยินยอต่ออัตราขยายตัวจีดีพี จากนานาประเทศ" หยัง กล่าวและอ้างตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ว่า จีดีพีต่อหัวของประชากรในประเทศจีน ยังต่ำอยู่ที่อันดับ 106 จากการจัดอันดับโลกในปี 2551 ซึ่งสูงกว่าของอิรักแต่ตามหลังอาร์เมเนีย และจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาเช่น เครือข่ายสวัสดิการประกันสังคมไม่เพียงพอและความยากจน

"จีนต้องเรียนรู้ที่จะอธิบายให้โลกรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร" เฉิน กง ประธาน Anbound Consulting ในกรุงปักกิ่งกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น