คำประกาศดั่งการซัดลูกระเบิดใหญ่ของกูเกิล ยักษ์ใหญ่เสิร์ช เอนจินแห่งแดนพญาอินทรี ที่ว่าจะถอนกิจการออกจากจีน เนื่องจากมีมือมืดที่มีฐานอยู่ในจีนคอยงัดแงะล้วงข้อมูลอีเมล์ของลูกค้าที่มักเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีน ได้กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก โดยคำประกาศดังกล่าวมีนัยต่อต้านการเซนเซอร์ของรัฐบาลจีนนั่นเอง
พลันกลุ่มสื่อโลก กลุ่มรณรงค์สิทธิต่างๆ ทั้งประชาชนจีนทั่วไปเอง ก็แห่โจมตีจีนในประเด็นสิทธิส่วนบุคคล การควบคุมของรัฐบาล และการเซ็นเซอร์ ผู้นำสูงสุดในวอชิงตัน ก็ออกโรงมาท้วงคำสัญญาเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พร้อมสนับสนุนกูเกิลที่ได้มีบทบาทในการปกป้องคุณค่าตะวันตกคือ เสรีภาพในการแสดงออก และการรักษาสิทธิในการเข้าสู่ข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ระบบของจีน ที่พยายามปิดกั้นประชาชนล่วงรู้ถึงความขัดแย้งทางการเมือง และเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ทั้งการแสดงออกทางการเมืองและสื่อลามกอนาจารใดๆ
แต่กรณีนี้มีนัยที่กว้างกว่าประเด็นการปะทะทางจริยธรรมที่ว่ามา โดยนาย Zachary Karabell ผู้เขียน "Superfusion: How China and America Became One Economy and Why the World's Prosperity Depends On it" (Simon & Schuster 2009) ได้วิเคราะห์ว่า กรณีของกูเกิล สะท้อนอนาคตของกลุ่มยักษ์ใหญ่ธุรกิจโลก และดุลอำนาจโลก
ย้อนกลับมาทบทวนข้อเท็จจริงที่ว่ากิจการ Google.cn มิได้เฟื่องฟูนัก ต้องแบกครกขึ้นเขาไล่ชิงส่วนแบ่งตลาดกับไป่ตู้ เสิร์ช เอนจินอันดับหนึ่งของจีนอย่างไม่เห็นอนาคต ขณะนี้ ไป่ตู้ครองส่วนเบ่งตลาดเกือบร้อยละ 60 ขณะที่กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 30 เท่านั้น ดังนั้น รายได้ของกูเกิลในจีน ก็มีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเทียบกับรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท ตามรายงานของซิติกรุ๊ป เมื่อวันที่ 13 ม.ค. คาดการณ์ว่า ปีนี้ กูเกิลน่าจะมีรายได้ในจีน ราว 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท
มิใช่เพียงกูเกิลเท่านั้น ที่ต้องผจญวิบากกรรมในภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตจีน กลุ่มบริษัทในภาคธุรกิจสื่อและสารสนเทศค่ายโลกตะวันตกต่างก็ล้มเหลวในการลงหลักปักฐานในแดนมังกร ก่อนหน้า อีเบย์ (eBay) และยาฮู (Yahoo) ซึ่งได้เข้าลงทุนในจีนเป็นเวลาหลายปี ทุ่มทุนกันไปหลายล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่ประมูลสินค้าทางออนไลน์อย่าง อีเบย์ก็ต้องพ่ายแพ้แก่เถาเป่าอย่างหมดรูป ด้านยาฮูก็ต้องปิดกิจการในจีน และซื้อหุ้นร้อยละ 40 ในอะลีบาบาไปถือไว้แทน
แม้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน มาจากการสร้างและการขายเป็นหลัก โดยที่ภาคนวัตกรรมใหม่ไม่ได้มีส่วนช่วยดันอัตราเติบโตเท่าไหร่นัก ซึ่งก็อาจเป็นจริงในหลายพื้นที่ของภาคเศรษฐกิจ แต่บนเวทีของสื่อและอินเทอร์เน็ต กลับไม่เป็นเช่นนั้น จีนมีกลุ่มผู้ประกอบการในวัยสามสิบกว่าที่มาแรง และส่วนใหญ่ได้หล่อหลอมประสบการณ์จากการกรำงานในสหรัฐอเมริกา พวกเขาได้สร้างแฟรนไชส์ “เมด อิน ไชน่า” ในโลกออนไลน์จีน อาทิเช่น ไป่ตู้ คู่แข่งของกูเกิล ได้กุมส่วนแบ่งตลาดมากสุดในตลาดที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากสุดในโลก 384 ล้านคน และจ้าวยุทธจักรออนไลน์ทั้งเว็บท่าและกลุ่มบริษัทบันเทิง อย่าง Sina และ Netease, บริษัทเกม Shanda ซึ่งได้ซื้อหุ้นบริษัทเกมอเมริกัน และวางแผนที่จะสยายปีกไปยังสหรัฐอเมริกา, และยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต และแอ็ปพริเคชั่นมือถือ Tencent ก็บูมระเบิด
กลุ่มบริษัทสัญชาติจีนเหล่านี้ มีข้อได้เปรียบที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่งต่างชาติ เนื่องจากผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมาจากกลุ่มชนชั้นนำเช่นเดียวกับผู้คุมกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มีอำนาจสั่งการเซ็นเซอร์ พวกเขาต่างมีช่องทาง “หลังบ้าน” ในการล็อบบี้รัฐบาลจีน และยังมีการพูดคุยกันอยู่เนืองๆเกี่ยวกับสิ่งที่ยอมรับได้และสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงการเซ็นเซอร์ด้านการเมือง ยังรวมถึงด้านศีลธรรมด้วยโดยเฉพาะเนื้อหาลามกอนาจารและเรื่องเพศ
กล่าวโดยทั่วไป เมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งงัดข้อกับรัฐบาลจีนทำนองเดียวกับกรณีกูเกิลครั้งล่าสุดนี้ กูเกิลและกลุ่มสื่อค่ายโลกตะวันตก ก็มักยิงประเด็นไปที่การปะทะทางจริยธรรม แต่ก็ยังมีนัยที่สำคัญ โดยกรณีกูเกิลฯนั้น ก็เป็นอีกสัญญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนดุลอำนาจเศรษฐกิจโลก ส่วนประเด็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาข้อมูลข่าวสาร หลายประเทศก็ทำกัน ไม่เพียงกลุ่มรัฐที่วอชิงตันตีตราเป็นรัฐอัธพาล(rougue regime) อย่างอิหร่าน เกาหลีเหนือ กลุ่มประเทศในย่านอ่าวเปอร์เซีย และแอฟริกาเหนือ ก็มีการบล็อกเว็บไซต์กันเป็นว่าเล่น แต่กรณีเหล่านี้ก็ไม่เป็นเรื่องใหญ่โตสร้างความขุ่นเคืองในวงการหรือในทำเนียบขาว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่ทำจารกรรมในโลกไซเบอร์ อย่างอิสราเอล มิตรรักของวอชิงตัน และแน่นอน ทำเนียบขาวก็มีกลุ่มแฮคเกอร์เป็นกองทัพใหญ่ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
แต่การติดตามและเซ็นเซอร์เว็บของจีน กลับเป็นการท้าทายกลุ่มธุรกิจตะวันตก ที่ครองอิทธิพลใหญ่ไม่มีใครอาจแข่งประชันได้มาตลอด และขณะนี้ ก็กำลังท้าทายอำนาจครอบงำของซิลิคอน วอลเลย์ (Silicon Valley) ในโลกของเทคโนโลยีใหม่ และท้ายที่สุด ก็อาจกล่าวได้ว่า การผงาดขึ้นของจีน และโลกธุรกิจใหม่ที่กลุ่มผู้ประกอบการจีนกำลังฟูมฝักให้เติบใหญ่ต่อไป โดยไม่เป็นมือสองหรือมือสำรองของอเมริกา ก็เป็นเบื้องหลังความวุ่นวายของกรณีกูเกิลออกโรงมาขู่ถอนกิจการในจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว.