ควันจากกล้องสูบยาบรรจุน้ำตัวเขื่อง กลิ่นหอมจากเนื้อแพะหมักเครื่องเทศเสียบเหล็กย่าง ตลบอบอวลในอากาศเย็นๆ เสียงพูดภาษาอาหรับของชายหน้าตาที่ฟ้องชัดว่าเป็นแขก แข่งกับเสียงดนตรีเป็นจังหวะจากร้านอาหาร ภายใต้ป้ายตัวอักษรภาษาอารบิกและภาษาจีน ที่เขียนคู่กัน
ผู้คนอาจเห็นภาพบรรยากาศนี้ ในหลายๆเมืองในย่านตะวันออกกลาง แต่ที่นี่คือ เมือง “อี้อู” ในมณฑลเจ้อเจียงแห่งภาคตะวันออกของประเทศจีน
เมืองอี้อู อยู่ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้เพียง 300 กม. มีประชากร 2 ล้านคน เมืองแห่งนี้ ได้กลายเป็นทางแยกบนเส้นทางที่ได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายไหมแห่งใหม่” ระหว่างจีนและตะวันออกกลาง ดึงดูดพ่อค้าชาวอาหรับ มากกว่า 2 แสนคนเข้ามาแสวงโชคที่เมืองนี้ในแต่ละปี
“โอ ที่เมืองจีนนี่นะ สบายมาก ใครที่ไม่รู้ภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ ก็มาที่นี่ได้” Ashraf Shahabi วัย 29 ปี กล่าวระหว่างที่กำลังต้อนรับลูกค้าที่ร้านอาหาร Al-Arabi ที่เขาเป็นเจ้าของเอง
ตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยาฯ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรป ต่างก็เข้มงวดการออกวีซ่าเข้าดินแดน แต่ที่ประเทศจีนกลับต้อนรับชาวอาหรับมากกว่า โดยอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศให้อย่างไม่ยุ่งยากนัก Ben Simpfendorfer หัวหน้าเศรษฐกรจีน ของ โรยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-อาหรับ เล่า
สำหรับที่เมืองอี้อู รัฐบาลท้องถิ่นที่นี่ ยังได้ส่งเสริมการค้าอาหรับในเมืองตลาดค้าส่งแห่งนี้ โดยอุดหนุนการสร้างสุเหร่า การสร้างโรงเรียนสอนภาษาอาหรับ ทั้งยังได้ไฟเขียวให้ชาวอาหรับราว 3 พันคน ได้สิทธิการอยู่อาศัยอย่างถาวรในเมืองอี้อูนี้ด้วย
นาย Shahabi ก็เป็นคนหนึ่ง ที่ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ เขาโบกมือลาบ้านเกิดในประเทศจอร์แดนเมื่อปีพ.ศ. 2545 มาทำงานที่ร้านอาหารของลุง ซึ่งขณะนั้น ที่อี้อู มีร้านอาหารอาหรับอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เขายังได้เรียนภาษาจีนกลางไปด้วย จากนั้น ก็เริ่มหัดค้าขาย และแต่งงานกับหญิงชาวจีน ซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ได้เปลี่ยนทิศทางที่กลุ่มพ่อค้ามุ่งไป กลุ่มพ่อค้าชาวอัฟกันเป็นกลุ่มแรกที่หลั่งไหลมายังเมืองอี้อู พวกเขาหนีสงครามมา ตามด้วยพ่อค้าชาวอิรักที่ทะลักเข้ามาด้วยจำนวนที่มากกว่า พวกเขาหนีสงครามมาเช่นกัน สงครามที่มีกองทัพมะกันเป็นตัวนำ และความวุ่นวายจากการลุกฮือของประชาชน
กลุ่มพ่อค้าจากโลกอาหรับทวีจำนวนมากขึ้นๆ ขณะที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง และการแข่งขันอำนาจที่ดุเดือดมากขึ้นในตะวันออกกลาง จนเหล่าพ่อค้าอาหรับได้พบว่า ไม่มีที่ไหนในโลก น่าอยู่เท่าที่เมืองอี้อู บ้านเกิดพวกเขาเต็มไปด้วยความวุ่นวายเกินกว่าจะค้าขายได้อย่างสงบ ขณะที่ที่อื่นๆไม่ต้อนรับพวกเขา
“ที่นี่เป็นตลาดที่ใหญ่สุดในโลก คุณภาพสินค้า ไม่ได้ดีมาก แต่ราคาสวยมาก” Shahabi เล่า
ตลาดค้าส่งอี้อู มีพื้นที่สี่ล้านตารางเมตร และส่อเค้าขยายตัวไปอีก เจ้าหน้าที่เมืองอี้อูคุยว่า คุณต้องใช้เวลาเป็นปี สำหรับเยี่ยมชมบูธสินค้า มากกว่า 62,000 แห่งของเมืองนี้ ได้ครบทุกแห่ง แม้ใช้เวลาหยุดชมสินค้าในแต่ละร้านเพียง 3 นาทีเท่านั้น
“ที่นี่ มีทุกสิ่งที่คุณต้องการ” เป็นสโลแกนที่ดูเหมาะกับที่นี่จริงๆ สินค้า “เมด อิน ไชน่า” มากกว่า 1.7 ล้านชนิด พิณโปรตุเกส อูคูเลลี (ukelele) ที่หน้าตาคล้ายกีตาร์ ไปถึงกระเป๋าเดินทางบอนนี่ iPods ปลอม ขนตาปลอม เครื่องเน็ตบุ๊ค ไปถึงกระทะที่ทอดอาหารแล้วไม่ติดที่ท้องกระทะ ฯลฯ
“มันยังกับประเทศ ประเทศหนึ่งเลย” นายBashar Wehehe ชาวเลบานอน วัย 28 ปี กล่าวด้วยความทึ่ง ขณะมองไปรอบๆช้อปปิ้งมอลล์ และยืนรอตัวอย่างช้อน ที่เขาจะซื้อไปขาย
Wehehe เพิ่งมาที่อี้อูครั้งแรกเมื่อห้าเดือนที่แล้ว และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สาม และปริมาณสินค้าที่เขาซื้อกลับไปนั้น ยิ่งทวีคูณมากขึ้นในครั้งถัดๆมา และครั้งนี้ เขากะซื้อสินค้าถึง 500 ชนิด ให้เต็มตู้คอนเทนเนอร์ 3 หลัง เอากลับไปขายที่บ้าน
พ่อค้าจากต่างแดนเหล่านี้ จะต้องพึ่งล่าม และไกด์ที่พูดภาษาจีน โดยหลายคนเป็นแขกที่พูดภาษาอารบิกด้วย เพื่อช่วยแนะนำและต่อรองราคา นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 60 ของกลุ่มธุรกิจในอี้อู ยังต้องการคนงานที่มีทักษะภาษาอารบิก ดังนั้น จึงมีชั้นเรียนที่สอนภาษาอารบิก ผุดขึ้นมากมายในเมืองนี้
ในปีพ.ศ. 2547 รัฐบาลท้องถิ่นของอี้อู ยังได้บริจาคโรงงานแห่งหนึ่ง ดัดแปลงเป็นสุเหร่า โดยมีชางต่างชาติและชาวจีนที่นับถืออิสลาม ช่วยกับบริจาคเงิน ยกเครื่องโรงงานให้เป็นสุเหร่า
อี้อูย้ำเสมอว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและตะวันออกกลางนั้น เป็นผลมาจากปัจเจกชนแท้ๆ นาย Simpfendorfer ผู้เขียนเกี่ยวกับการขยายความสัมพันธ์กับโลกอาหรับของจีนไว้ในหนังสือของเขา ชื่อ “The New Silk Road”
“กระแสที่ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับตะวันออกกลางนั้น เชื่อมโยงกับน้ำมันเท่านั้น ...ดูไม่ใช่เสียแล้ว”