นิวยอร์กไทมส์ – ที่โรงเรียนประถมศึกษาลั่วหลาง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามภูเขา ทางภาคใต้ของจีน มีกฎระเบียบข้อหนึ่งที่นักเรียนต้องปฏิบัติตามได้แก่การยกมือตะเบ๊ะรถทุกคัน ที่แล่นผ่าน ขณะเดินทางไป หรือกลับจากโรงเรียน
เพราะอะไรรึ? พวกนักการศึกษาของอำเภอเฉลยว่า จุดมุ่งหมายของระเบียบข้อนี้ก็เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุรถชนเด็ก และฝึกมารยาทของเด็กนักเรียน
“ช่างน่าสมเพชจริงจริ๊ง” ชาวมังกรรายหนึ่งวิจารณ์ในเว็บไซต์เมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่ชาวเน็ตอีกหลายพันคนพากันรุมสวด
มีแต่เจ้าหน้าที่ปัญญาอ่อนเท่านั้นหรอก โยนภาระให้เด็ก ๆ แทนที่จะสร้างลูกระนาดชะลอความเร็วบนถนน หลายคนเสนอความเห็น
กฎระเบียบให้นักเรียนทำความเคารพรถยนต์ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่เลิกสำหรับผู้เข้าไปอ่านเว็บไซต์ เหมือนกับการออกกฎ ที่“ไม่น่าไว้ใจ” อีกมากมายของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ซึ่งแม้แต่สำนักข่าวของทางการจีนเองก็ร่วมวงวิพากษ์วิจารณ์ และเปิดโปง
ดังกรณีหนึ่ง ที่อำเภอก่งกัน , มณฑลเหอเป่ย ซึ่งกลายเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เมื่อสื่อรายงานว่า เจ้าหน้าที่อำเภอออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจช่วยกันซื้อบุหรี่ยี่ห้อของมณฑลให้ได้ครบตามเป้าหมาย 23,000 ห่อทุกปี แผนกใด ที่ลูกจ้างไม่ช่วยซื้อ หรือไปซื้อยี่ห้ออื่น จะต้องถูกสั่งปรับ เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษีบุหรี่จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจท้องถิ่นโต
ในที่สุด ทางอำเภอต้องรีบแถลงทางเว็บไซต์รัฐบาลว่า“เราได้ตัดสินใจยกเลิกคำสั่งนี้แล้ว”
ยังมีกฎอีกมากมาย ซึ่งประกาศิตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่หย่อนการฝึกอบรม และมีแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น ที่สามารถไล่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ออกจากงานได้ เช่นกรณีเจ้าหน้าที่เมืองฮั่นชวน มณฑลเดียวกัน ต้องการส่งเสริมเหล้าไป๋จิ่ว จึงสั่งให้ลูกจ้างรัฐทำยอดซื้อให้ได้ 300,000 ดอลลาร์ในแต่ละปี นักข่าวคำนวณว่า แต่ละคนต้องซื้อถึงวันละ 3 ขวบทีเดียว จึงจะทำได้ตามเป้า
กรณีอำเภอแห่งหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจว ทางภาคใต้ สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่บ้านโบราณ โดยจัดทัวร์ไปลงที่นั่น ทำให้ทางอำเภอสามารถรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวได้ถึง 5,000 คนภายในเวลาสองเดือน
กรณีการออกกฎในปี 2546 ห้ามเจ้าหน้าที่ชายในมณฑลเสฉวนรับเลขาหญิงเข้าทำงาน ไชน่า ยู้ท เดลี่ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ผู้ออกกฎดังกล่าวต้องการ “ทำให้แน่ใจว่างานการจะไม่เสีย”
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมาระบุอย่างชัดเจนถึงต้นตอการออกคำสั่งฉบับเมื่อเดือนพฤษภาคม ให้ฆ่าสุนัขทุกตัวในเมืองเฮยเหอ ซึ่งติดกับพรมแดนรัสเซีย โดยตั้งทีมตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่สังหารเจ้าตูบตัวทุกตัว ที่โผล่ให้เห็นตามที่สาธารณะ
รายงานของสื่อคาดว่า อาจเนื่องมาจากความโกรธของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง หลังจากถูกสุนัขกัด ขณะเดินเล่น แต่ทางการไม่ยอมยืนยันข่าวนี้
นักวิชาการชี้ว่า การออกกฎระเบียบไม่เข้าท่า มีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางส่วนขาดความเป็นมืออาชีพ
ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเองพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดการฝึกอบรม และขยายช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเข้ามา นอกจากนั้น ในโรงเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์ ยังเน้นการสอนทักษะการบริหารปกครองเท่า ๆ กับเรื่องอุดมการณ์ ตลอดจนมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเด็ดขาด เช่นกรณีเลขาธิการพรรคประจำสาขาในเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งหนึ่ง ถูกไล่ออก หลังจากสั่งปรับเงินชาวนาจำนวน 73 ดอลลาร์ ที่ฝ่าฝืนตัดต้นข้าวโพดโดยไม่ได้รับอนุญาต
ความบ้าคลั่งในการออกกฎดูเหมือนจะครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐของหมู่บ้าน 637,001 แห่งบนแดนมังกร เช่นคราวหนึ่งเจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของมหานครฉงชิ่งสั่งให้หญิง ที่ยังไม่สมรส ต้องผ่านการทดสอบพรหมจารี ก่อนรับเงินชดเชยสำหรับที่นา ซึ่งรัฐบาลบังคับซื้อ กระทั่งผู้ปกครองระดับสูงต้องสั่งให้ยกเลิกกฎนี้ไปเมื่อปี 2548
ย้อนกลับมาดูกฎที่ให้นักเรียนทำความเคารพรถยนต์นั้น นายหลง กั๊วะผิง รองหัวหน้าสำนักงานการศึกษาเขตอำเภอหวงผิงยืนยันว่า มีประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเกือบ 30 แห่งในเขตอำเภอ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนที่คดเคี้ยว ไม่มีทางเท้า หรือลูกระนาดบนถนน นอกจากนั้น ยังเป็นกฎระเบียบ ที่ค่อยๆโน้มน้าวให้เด็กนักเรียนทำตามความสมัครใจ
ขณะที่ครูคนหนึ่งของโรงเรียนลั่วหลางบอกว่า นับตั้งแต่เริ่มใช้กฎนี้ ยังไม่เกิดอุบัติเหตุบนถนนเลย
กระนั้นก็ตาม คุณตา วัย 63 ปีของเด็กนักเรียนคนหนึ่งลังเล แกให้ความเห็นว่า ถ้ารถวิ่งมาทางเดียว ก็ไม่น่าจะอันตรายนัก แต่หากรถวิ่งมาทั้งสองทาง สวนกัน ก็เป็นเรื่องน่าคิด
“บางที รถมันตีวงเลี้ยวกลับ แล้วพุ่งมาอย่างเร็ว” คุณตากล่าว และทำท่าหมุนตัวให้ดู พร้อมกับยิ้มอย่างมีเลศนัย