คำพูดเด็กๆ เท่านั้นเอง?
ข่าวเด็ดสุดฮือฮาประจำสัปดาห์เปิดเทอมของประเทศจีน ที่ดึงดูดความสนใจชาวเน็ตอย่างท่วมท้น คือข่าวสัมภาษณ์เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ในกวางเจา
เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันเปิดเทอมของเด็กนักเรียน ผู้สื่อข่าวประจำสื่อของรัฐแห่งแดนใต้ “หนันฟางตูซื่อ” (南方都市报หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Southern Metropolis Daily) ก็ได้รุดไปยังโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประจำกว่างโจว หรือกวางเจา เมืองเอกของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) สัมภาษณ์บรรดาเด็กน้อยอนาคตของชาติในวันหน้า
“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรค่ะ?” ผู้สื่อข่าวถามเด็กน้อยในวัยที่ใครต่อใครมักเปรียบเสมือนผ้าขาวสะอาด
“หนูอยากเป็นครู”
“หนูอยากเป็นศิลปินเขียนภาพ”
“หนูยังไม่รู้เลยค่ะ....ฯลฯ
“อยากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐค่ะ” เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่กำลังขึ้นชั้นป. 1 คนหนึ่งตอบ
“แล้ว หนูอยากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแบบไหนค่ะ” ผู้สื่อข่าวถามต่อ
“เจ้าหน้าที่รัฐที่คอรัปชั่นค่ะ เพราะจะได้มีของเยอะแยะ” หนูน้อยตอบ
หนันฟางตูซื่อ รายงานการสัมภาษณ์ของเด็กหญิงผู้ฝันอยากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคอรัปชั่นเพราะมีทรัพย์สมบัติมากมายนี้ ไม่ทันข้ามวัน...ก็ผู้อ่านบทสัมภาษณ์กว่าหมื่น และกลายเป็นข่าวจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เผ็ดร้อนมากที่สุด
จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความฝันอยากเป็นเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นของหนูน้อยวัย 6 ขวบนี้ ปรากฏผลว่า
10 เปอร์เซนต์ บอกว่า “เป็นแค่ความคิดแบบเด็กๆ ไร้สาระ”
และอีก 55 เปอร์เซนต์ บอกว่า “มันสะท้อนถึงความจริงในสังคม”
ชาวเน็ตคนหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “ฮ่า ฮ่า... ลัทธิสังคมนิยมได้เสนอ “ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระจักรพรรดิ” เวอร์ชั่นใหม่แล้ว
อีกคนโพสต์ว่า “มลพิษจากชีวิตบัดซบได้ปนเปื้อนเด็กๆแล้ว เราจะสั่งสอนเด็กชั่วรุ่นใหม่กันอย่างไร?”
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา แถลงเตือนหลายครั้งว่า “คอรัปชั่นเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงของชาติ ที่อาจล้มการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์”
กลุ่มผู้ใหญ่วิจารณ์เครียด
อย่างไรก็ตาม คำตอบบทสัมภาษณ์ของหนูน้อยวัย 6 ขวบ ที่อยากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคอรัปชั่น ก็สร้างความเครียดแก่ผู้ใหญ่บางกลุ่ม เฟิ่งหวง (Phoenix-ifeng.com) สื่อยักษ์ใหญ่แห่งฮ่องกง เสนอบทวิจารณ์ต่อข่าวนี้เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ดังนี้
คำพูดของเด็ก สะท้อนถึงความจริงอันแสนเลวร้ายของโลกผู้ใหญ่ ขณะนี้รัฐบาลยิ่งขยายปฏิบัติการต่อต้านคอรัปชั่น คอรัปชั่นกลับยิ่งขยายตัว”
แต่สิ่งที่น่ากลัวมากยิ่งไปกว่านั้น มิใช่คอรัปชั่นโดยตัวของมันเอง แต่คือ “อิทธิพลของกระแสคอรัปชั่นที่แพร่ขยายไม่ผิดอะไรกับการแพร่เนื้อร้ายมะเร็ง”
เมื่อพูดถึง “คอรัปชั่น” ผู้คนต่างแสดงท่าทีรังเกียจ แต่เมื่อตัวเองมีโอกาสทุจริต กลับเป็นเรื่องยากที่จะหักห้ามใจตัวเอง มิให้กลายเป็น “สมาชิกคอรัปชั่น” ไปเสียอีกคน
ชาวเน็ตผู้หนึ่งตอบการสำรวจในประเด็นนี้ว่า “ทุ่มเงินเลี้ยงดูปูเสื่อ ใช้เส้นสาย ขอความช่วยเหลือพวกพ้อง ติดสินบนให้ช่วยจัดการธุระผลประโยชน์, พวกเราต่างก็เกลียดคอรัปชั่น แต่ก็เสพคอรัปชั่นเช่นกัน, บริภาษเจ้าหน้าที่โกงกิน แต่ก็อิจฉาเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นผู้มั่งคั่ง, และในที่สุดคอรัปชั่นก็ได้สังหารจิตใจพวกเรา กระทั่งพวกเราเองก็ได้กลายเป็นโฆษกของการคอรัปชั่น”
เมื่อคอรัปชั่นกลายเป็นวัฒนธรรมด้านหนึ่ง มันก็ไม่ผิดอะไรจากมะเร็งร้ายที่ยิ่งเติบโต และทัศนะต่อคอรัปชั่นของคนจำนวนมากที่ตอนแรกเห็นมันเป็น “สิ่งเลวร้ายน่ารังเกียจ” ก็ค่อยๆแปรเปลี่ยนไปเป็น “ความเคยชิน” และในที่สุด “เมื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไม่ได้ ก็ปรับจิตใจให้เคยชินกับมัน”
ดังนั้น เมื่อเผชิญปรากฎการณ์ “แม้แต่เด็ก ป. 1 ยังถูกวัฒนธรรมคอรัปชั่นกลืนกิน ถึงกับฝันอยากเป็นเจ้าหน้าที่คอรัปชั่น” เช่นนี้แล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่พวกเราจะหันมาทบทวนประเพณีค่านิยม และเริ่มต้นกันใหม่ในการแสวงหาการปกครองและสร้างความศรัทธาสังคม มิฉะนั้นแล้ว คอรัปชั่น ก็จะกลายเป็น “โรคมะเร็งขั้นสุดท้าย ที่ไม่มียารักษาได้แล้ว”.