รอยเตอร์ – พญามังกรท่าทีอ่อนลงกรณีไต้หวันเปิดบ้านต้อนรับทะไล ลามะ พุ่งเป้าฉะพรรคฝ่ายค้านมีวาระซ่อนเร้นในการเชิญผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต แทนที่จะเป็นประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว
เมื่อวันจันทร์ (31 ส.ค.) จีนได้แถลงข่าวเตือนไต้หวันว่า การเยือนของทะไล ลามะอาจ “บ่อนทำลาย” ความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วระหว่างจีนและไต้หวันภายใต้การนำของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว
อย่างไรก็ตาม จีนได้ตอบโต้การตัดสินใจของไต้หวันด้วยการยกเลิกกิจกรรมเล็กๆ เท่านั้น ทั้งยังพุ่งเป้าความไม่พอใจไปที่พรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของไต้หวันแทนที่จะพุ่งเป้าไปที่หม่า อิงจิ่ว โดยระบุว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีวาระซ่อนเร้นในการเชิญองค์ทะไล ลามะไปเยือน
ทะไล ลามะเดินทางมาถึงไต้หวันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 ส.ค.) เพื่อปลอบขวัญเหยื่อไต้ฝุ่นมรกตที่พัดกระหน่ำไต้หวันครั้งรุนแรงสุดในรอบ 50 ปีเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดดินถล่ม น้ำท่วม คร่าชีวิตชาวบ้านไปมากถึง 750 คน
และในวันอังคาร (1 ก.ย.) ทะไล ลามะ มีกำหนดการเดินทางไปสวดมนต์ เพื่อปลอบขวัญเหยื่อไต้ฝุ่นมรกตในเมืองเกาสง
อย่างไรก็ตาม ทะไล ลามะย้ำว่า การมาเยือนของเขาครั้งนี้ จุดประสงค์ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่จีนก็ไม่คิดเช่นนั้น
จาง หรงก้ง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของพรรคก๊กมินตั๋งเปิดเผยว่า “มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบถูกเลื่อนและยกเลิกไป”
ดังเช่นกรณีที่ ซู หนิง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีน เลื่อนกำหนดการเดินทางมาไต้หวัน โดยเขามีแผนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมด้านการเงิน “ด้วยเหตุผลทางเทคนิก” ตามที่ผู้จัดการประชุมเปิดเผย
ขณะที่ทีมจากจีนก็จะคว่ำบาตรพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสำหรับคนหูหนวก (Deaflympics) ที่จะจัดขึ้นที่เมืองเกาสงของไต้หวันในวันที่ 5 กันยายนนี้ นอกจากนี้ สื่อจีนยังรายงานว่า สำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนจะยกเลิกแผนการจัดงาน “สัปดาห์ไต้หวัน” ในมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศด้วย
ส่วนการเปิดตัวเที่ยวบินบินตรงระหว่างจีนและไต้หวันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สื่อจีนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทั้งที่ปกติแล้วประเด็นดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากสื่อและถูกประโคมข่าวอย่างใหญ่โต
ทั้งนี้ จีนและไต้หวันหันหลังให้กันหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 (พ.ศ.2492) แต่ถึงกระนั้น จีนก็ยังอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนไต้หวันตลอดมา ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองดินแดนช่องแคบลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด กระทั่งความสัมพันธ์เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากหม่า อิงจิ่วขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี