xs
xsm
sm
md
lg

อีคอมเมิร์ซจีนเร่งปรับตัวหันขุดทองในประเทศหลังส่งออกทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก images.google.com
เอเยนซี - อาลีบาบายักษ์ใหญ่ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนซึ่งเชื่อมผู้ค้าและผู้ซื้อจากต่างชาตินับล้านคนเผชิญวิกฤตในสนามแข่งขันครั้งใหญ่ ขณะที่คู่แข่งในบ้านบางรายงัดกลยุทธเรียกค่าใช้จ่ายโดยตรงจากผู้ซื้อต่างชาติไม่เก็บจากผู้ขาย หวังเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่

หวัง ซู่ถง เจ้าของและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ชตุนหวง (DHgate.com) ซีอีโอหญิงคนหนึ่งที่สร้างอีคอมเมิร์ซต่างจากอาลีบาบา ด้วยการเป็นพันธมิตรช่วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางผลักดันสินค้าสู่มือผู้ซื้อต่างชาติ กล่าวว่าวิกฤตเศรษฐกิจกระทบรุนแรงต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะรูปแบบเก่าๆ

นับตั้งแต่ DHgate.com ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ก็กลายเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจากต่างชาติกับกลุ่มผู้ส่งออกจีน โดยนักธุรกิจเหล่านี้สามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรงซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับอีเบย์ ต่างจากอาลีบาบาที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ แบบ B2B ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่เช่น วอล์มาร์ท และ พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล

การบริหารงานของ DHgate มุ่งเน้นให้บริการนักธุรกิจรายย่อยไปถึงผู้ซื้อโดยทั่วไป และรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อต่างชาติในแต่ละสัญญาซื้อขายตั้งแต่ 3 -7 เปอร์เซ็นต์

“ในความคิดฉันอาลีบาบาไม่ใช่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ แต่เป็นเพียงตัวกลางที่นำเสนอข้อมูลแก่ผู้ซื้อและซับพลายใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน” หวังพูดถึงเว็บไซต์อาลีบาบา ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าเว็บไซต์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ควรให้ความสำคัญกับเงินสดจากการค้ามากกว่า

ทั้งนี้ นับตั้งแต่หวัง ซู่ถงก่อตั้ง DHgate.com เธอบอกว่าสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 2 ล้านดีล ซึ่งมูลค่าการค้าเมื่อปีที่แล้วแตะระดับ 1,400 ล้านหยวน ขณะที่หวังประเมินตัวเลขดังกล่าวทะลุ 10,000 ล้านหยวน ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ข้อมูลวิจัยจากบริษัท Analysys International ในจีนรายงานว่า อัตราการเติบโตของตลาด B2B (business-to-business) หดตัวรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว โดยตัวเลขการเติบโตลดลงที่ 6.58 เปอร์เซ็นต์ จาก 15.65 เปอร์เซ็นต์ ของปี 2550
ไฟล์ภาพ บริษัทอาลีบาบาที่จัดแสดงบูธในนิทรรศการเซี่ยงไฮ้ ฮาร์ดแวร์ เอ็กซ์โป ในปี 2550 -ไชน่าเดลี่
รายงานผลประกอบการของอาลีบาบาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงที่ระดับ 16 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทหันมาลดค่าธรรมเนียมลงทะเบียนสินค้าจากผู้ขาย และเน้นทำการตลาดช่วยเหลือก่อนผู้ค้าจะเผ่นหนี

“การส่งออกของจีนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและยังกระทบโดยตรงต่อเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ” หลี่ รุ่ยเซียง นักวิเคราะห์จาก บริษัท Analysys International กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กลุ่มธุรกิจเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั้งหลายต่างลดค่าธรรมเนียมการจัดการ ขณะเดียวกันก็เข็นแผนส่งเสริมการขายใหม่ๆเพื่อรักษาลูกค้า

กัว เจียง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ HC360.com กล่าวว่า การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง นับตั้งแต่ความต้องการสินค้าจากต่างชาติลดลง ขณะที่กัวหวังใช้โอกาสนี้หนุนผู้ส่งออกให้กลับมาสร้างยอดขายในประเทศ โดยมั่นใจว่าปีนี้บริษัทจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วสวนกระแสเศรษฐกิจปัจจุบันที่ซบเซา

ขณะที่ไอรีเสิร์ชบริษัทวิจัยชื่อดังในจีนเปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจปีที่แล้วจะซบเซา แต่ธุรกิจ B2Bในจีนกลับขยายตัวสูงถึง 29,600 ล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 39.4 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 98 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยรวม พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงเป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

ด้านหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ รายงานอ้างข้อมูลจากศูนย์เครือข่ายอินเทอร์เน็ต(CNNIC)ว่าปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีถึง 338 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 40 ล้านคน

โดยในจำนวนดังกล่าว 320 ล้านคนเป็นผู้ใช้บริการบรอดแบรนด์ อินเทอร์เน็ต ขณะที่ 155 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อ ซึ่งบริการที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตได้แก่ ความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ทั้งข้อมูลข่าวสาร, สังคมออนไลน์ และการซื้อขายสินค้าออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น