ไชน่าเดลี่ – เจ้าของสุนัขโอดครวญนโยบาย “สุนัขตัวเดียว” ของทางการเมืองกว่างโจวที่บีบให้เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขหลายตัวจำเป็นต้องเลือก 1 และทิ้งที่เหลือทั้งหมด ด้านองค์กรช่วยเหลือสุนัขจรจัดหวั่น กฎดังกล่าวจะยิ่งทำให้มีเจ้าตูบเร่ร่อนเพิ่มมากขึ้น
คุณผู้หญิงแซ่เฉินไม่อยากคิดเลยว่าเธอจะต้องทิ้งเจ้าตูบแสนรัก 1 ใน 2 ตัวของเธอไป แต่เธอไม่มีทางเลือก เพราะทางการเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง ได้คลอดนโยบาย “สุนัขตัวเดียว” ออกมา ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยกฎฯ ระบุ หนึ่งครอบครัวสามารถเลี้ยงสุนัขได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น
“มันเป็นกฎที่โหดร้ายมาก สุนัขพวกนี้เป็นเหมือนครอบครัวของพวกเรา คุณจะเลี้ยง 1 ตัวแล้วทิ้งที่เหลือไปได้ยังไง?” คุณเฉินโอดครวญ
ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวเป็นความพยายามส่วนหนึ่งในการควบคุมสุนัขจรจัดในกว่างโจว หนึ่งในเมืองที่มั่งคั่งที่สุดของจีน และมีอัตราการเติบโตของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีเงินซื้อสุนัขมาเลี้ยง เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขเป็นครั้งแรกไม่สนใจนำสัตว์เลี้ยงไปทำหมัน แล้วเมื่อพวกมันตกลูกก็จะกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็มักลงเอยด้วยการทิ้งขว้างสุนัขเหล่านี้เมื่อเจ้าของรู้สึกเบื่อที่จะเลี้ยง
นอกจากนี้ การที่กว่างโจวกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ในปีหน้า ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางการเดินเครื่องลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดออกจากทางเท้าด้วย
ด้าน เหมาเหมา ซึ่งก่อตั้งบ้านสำหรับหมาจรจัดชื่อว่า “ครอบครัวสัตว์เลี้ยง” เมื่อ 6 ปีก่อนกลับมองว่า นโยบายดังกล่าวจะยิ่งทำให้ปัญหาสุนัขจรจัดรุนแรงขึ้น โดยเธอเล่าว่า ช่วงก่อนที่ทางการจะเริ่มประกาศกฎระเบียบนี้ เธอยังได้รับโทรศัพท์แสดงเจตจำนงค์ที่จะทิ้งสุนัขไม่มากนัก “แต่หลังจากประกาศกฎในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เราได้รับโทรศัพท์ทุกวัน วันละสิบกว่าสาย” ซึ่งเธอก็อธิบายให้คนที่โทรศัพท์มาเข้าใจว่า เธอรับแต่สุนัขจรจัดเท่านั้น พร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าของหาบ้านใหม่ให้สัตว์เลี้ยงอยู่
“ฉันกลัวว่าหลังจากเดือนกรกฎาคมที่กฎระเบียบใหม่บังคับใช้ จะมีสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น” เหมาเหมากล่าว
อย่างไรก็ตาม เจ้าของสุนัขในกว่างโจวยังไม่แน่ใจว่านโยบายสุนัขตัวเดียวนี้จะบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือไม่
อย่างในกรณีของคุณเฉิน เธอวางแผนว่าจะจดทะเบียนสุนัขอีกตัวในนามของพ่อแม่เธอ เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายดังกล่าว
ทั้งนี้ นอกจากกว่างโจวที่มีการควบคุมสุนัขจรจัดแล้ว เมืองอื่นๆ เช่น ปักกิ่ง ก็กำลังปรับปรุงกฎควบคุมสุนัขใหม่ โดยทางการร่วมมือกับกองทุนสวัสดิการสัตว์สากลและสมาคมสัตวแพทย์ในการรณรงค์ทำหมันสัตว์ เพื่อควบคุมจำนวนประชากรสุนัข นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการออกกฎควบคุมผู้เลี้ยงสุนัข เก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสุนัข และการฉีดวัคซีนด้วย