เอเยนซี – งานวิจัยจากสหรัฐฯระบุ ประชากรผู้สูงอายุที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศจีนกำลังคุกคามความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อนานาประเทศทั่วโลกด้วย
ศูนย์สถิติและการวิจัยระหว่างประเทศในวอชิงตัน(CSIC) สหรัฐอเมริการายงานว่า ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุในจีนมีจำนวน 16 คน ต่อ ประชากรวัยแรงงาน 100 คน อัตราส่วนผู้สูงอายุดังกล่าวจะเพิ่มเป็นสองเท่า เท่ากับ 32:100ภายในปี 2568, และก็จะสูงขึ้นไปอีกสองเท่า เท่ากับ 61:100 ในปี 2593
จากผลการศึกษาของ CSIC ซึ่งร่วมกับ มูลนิธิพรูเดนเชียลระบุว่า ในปี 2593 จีนจะมีประชากรผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป จำนวน 438 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีถึง 103 ล้านคน ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในรายงานดังกล่าวระบุว่าจีนยังคงเป็นประเทศที่ยากจน เนื่องจากมีเพียง 1 ใน 3 ของแรงงานตามเขตเมืองที่ได้รับเงินบำนาญ และภาระในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นนี้ จะตกอยู่ที่กลุ่มคนทำงานที่มีสัดส่วนน้อยลงๆ
แนวโน้มโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะบั่นทอนเสาหลัก 2 เสาที่สร้างความชอบธรรมแก่อำนาจปกครองของผู้นำจีน ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานชีวิต และการรักษาเสถียรภาพสังคม
ปัจจัยที่ผลักดันการขยายของประชากรสูงวัยในจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงอายุของชีวิตที่ขยายจาก 41 ปี เป็น 73 ปี และปัจจัยเร่งอีกประการ ก็คือนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐ ซึ่งจำกัดให้ครอบครัวในเมืองทั้งหมด มีบุตรได้เพียงคนเดียว
แม้ว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโต กระนั้นประชากรส่วนใหญ่ยังคงเผชิญความยากจน ขณะที่รายได้ต่อคนซึ่งสำรวจในปี 2548 อยู่ที่ 4,088 เหรียญสหรัฐฯ และเป็นจำนวนที่น้อยกว่าในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ถึง 3 เท่า ซึ่งทั้ง 4 ชาติ ต่างก็เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
จากการเปิดเผยผลการศึกษาฉบับนี้ CSIC ได้เรียกร้องให้ทางการจีนพัฒนาระบบประกับสุขภาพพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ความล้มเหลวในการคลี่คลายปัญหาโครงสร้างประชากรนี้ อาจส่งคลื่นช็อกประชาคมโลก สืบเนื่องจากจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และการประสานรวมกับประเทศต่างๆในระดับที่สูงมากขึ้นทุกวัน.