เอเอฟพี- การทำแท้งแบบคัดเลือกเพื่อให้ได้ลูกชาย ทำให้จีนเจอปัญหาความไม่สมดุลในเพศของประชากร ผลศึกษาล่าสุดพบผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงถึง 32 ล้านคน เป็นเหตุชายจีนแย่งคู่ครองกัน
โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากเอกสารการศึกษาของวารสารทางการแพทย์อังกฤษ (British Medical Journal -BMJ) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ (10 เม.ย.) โดยระบุว่า ค่านิยมการสืบทอดสายสกุลทางฝ่ายชาย เป็นสาเหตุให้เพศของประชากรจีนเกิดความไม่สมดุล และผู้ชายจีนก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเจ้าสาว และยังระบุอีกว่า “แม้จะมีข้อแนะนำมากมายเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ทางการจีนคงจะแก้ปัญหาประชากรเพศชายมีล้นเหลือไม่ทันการแล้ว”
ในประเทศอื่นๆ ประชากรเพศชายจะมีมากกว่าเพศหญิงเพียงเล็กน้อย เช่น ผู้ชาย 103-107 คนต่อผู้หญิง 100 คน แต่ในจีนและประเทศแถบเอเชีย ส่วนต่างของเพศชาย-หญิงจะมีมากกว่า ทั้งนี้มาจากค่านิยมที่ต้องการลูกชายมากกว่า จึงนิยมไปทำอัลตร้า ซาวด์ จนเป็นสาเหตุให้เกิดการทำแท้ง โดยเฉพาะพ่อแม่ชาวจีน หากรู้ว่าลูกในท้องเป็นเด็กหญิงก็จะไปทำแท้ง ทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ในประเทศจีนยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเพศของประชากร นั่นคือนโยบายลูกคนเดียว
โดยปกติแล้ว ชาวจีนที่มีลูกคนที่สองจะต้องจ่ายค่าปรับ และยังต้องบริจาคเงินเพื่ออุดหนุนการศึกษาของบุตร แต่ในบางมณฑลอนุญาตให้ชาวจีนมีลูกคนที่สองได้ หากลูกคนแรกเป็นหญิงหรือหากพ่อแม่มีฐานะลำบาก ขณะที่บางมณฑลอนุญาตให้มีลูกคนที่ 2 และ 3 ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเพศของลูกคนแรก
เอกสารการศึกษาดังกล่าว ยังได้อ้างถึงผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงร่วมกับมหาวิทยาลัยลอนดอน คอลเลจ ที่พบว่า เฉพาะปี 2548 อัตราเกิดของทารกเพศชายในจีนมีมากกว่า 1.1 ล้านคน และยังพบว่า ความไม่สมดุลของเพศประชากรมีมากที่สุดในเด็กอายุระหว่าง 1-4 ปี โดยอัตราส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิงเท่ากับ 124:100 คนและในเขตชนบทบางแห่งมีส่วนต่างถึง 126:100 คน
ในมณฑลใหญ่ๆ ที่เข้มงวดในนโยบายลูกคนเดียว ส่วนต่างของประชากรเพศชายต่อเพศหญิงยิ่งมากขึ้น เช่น ในมณฑลเจียงซี และเหอหนัน พบว่าอัตราเกิดของทารกเพศชายมีมากกว่า 140 คน เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราประชากรเพศหญิงอายุ 1-4 ปี สำหรับลูกคนที่สอง อัตราเกิดของทารกเพศชายต่อเพศหญิงยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยมีอัตรา 143:100 คน และตัวเลขอัตราเกิดของทารกเพศชายต่อเพศหญิงที่สูงที่สุดอยู่ที่มณฑลเจียงซู อยู่ที่อัตรา 192:100 คน
มีเพียง 2 มณฑลเท่านั้นที่ถึงแม้จะมีการนำนโยบายลูกคนเดียวไปใช้ แต่อัตราเกิดของทารกเพศชายกับเพศหญิงยังอยู่ในอัตราปกติ นั่นคือมณฑลทิเบตและซินเจียง
เอกสารการศึกษา ระบุอีกว่า การทำแท้งแบบคัดเลือกถือเป็นสาเหตุของการมีประชากรเพศชายล้นเกิน พร้อมกับแนะนำให้ทางการจีนผ่อนปรนกับนโยบายลูกคนเดียว เพื่อให้พ่อแม่ชาวจีนมีลูกคนที่สองได้หากลูกคนแรกเป็นหญิง อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสังคมที่เกิดจากความไม่สมดุลในเพศของประชากร
ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้แก้ปัญหาความไม่สมดุลของเพศประชากร ด้วยการรณรงค์เรื่องการดูแลเด็กผู้หญิงและปฏิรูปกฎหมายมรดก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ส่วนต่างอัตราเกิดของทารกเพศชายและหญิงระหว่างปี 2543-2548 เปลี่ยนแปลงมากนัก
ข้อมูลในเอกสารการศึกษาของวารสารทางการแพทย์อังกฤษดังกล่าว ได้มาจากการทำสำมะโนประชากรขนาดย่อมในปี 2548 โดยได้สำรวจข้อมูลจากประชากรจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 4.764 ล้านคนด้วย โดยสำมะโนประชากรดังกล่าวทำขึ้นเพื่อแก้ไขข้อมูลสำมะโนประชากรที่ทำขึ้นเมื่อปี 2543
อย่างไรก็ตาม นายเถา หลิวและนาย จาง เซียงอี้ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจี๋หลินมองว่า ค่านิยมการมีลูกชายของชาวจีนนั้นเริ่มถูกกรัดกร่อนโดยการทำให้เป็นเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ระบบทางสังคม ระบบบำนาญ และคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นของชาวจีน ทำให้ประเพณีการมีลูกชายลดความสำคัญลง
นักวิชาการรายเดิมยังแนะให้รัฐบาลจีนเลียนแบบการแก้ปัญหาจากเกาหลีใต้ โดยในปี 2535 อัตราส่วนประชากรเพศชายและหญิงในเกาหลีใต้มีถึง 229:100 คน ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้จึงทำการรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงปัญหานี้ พร้อมกับเข้มงวดในการใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติทางเพศ ผลปรากฎว่า ในปี 2547 อัตราส่วนประชากรเพศชายและหญิงในเกาหลีใต้ อยู่ในระดับ 110:100 คน