xs
xsm
sm
md
lg

โรมรับรอง “พลเมืองกิตติมศักดิ์” แด่ทะไล ลามะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในอินเดีย-ภาพเอเอฟพี
เอเอฟพี-ทะไล ลามะ ได้กลายเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของกรุงโรมไปเมื่อวันจันทร์(9 ก.พ.) พร้อมกันนี้ โรมได้ประกาศคำมั่นสนับสนุนการต่อสู้ตามแนวทางอสิงสาของผู้นำจิตวิญญาณทิเบต เพื่อเรียกร้องอำนาจปกครองตัวเองจากผู้นำจีน

นายกเทศมนตรี Gianni Alemanno กล่าวแก่ท่านทะไล ลามะ ในพิธีที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ว่า “ต่อไปนี้ ท่านจะมิใช่แขกผู้ทรงเกียรติของเราอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองของโรม และการมาปรากฏตัวของท่าน ยังเป็นสัญลักษณ์ทางจริยธรรมของพวกเรา ในการต่อต้านความอยุติธรรม ความรุนแรง และการกดขี่ ซึ่งมีเป้าหมายปกป้องสิทธิของของเราแต่ละคน ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมและด้านจิตวิญญาณ”

นายกเทศมนตรีกรุงโรม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “เราขอยืนเคียงข้างท่าน และขอร่วมเรียกร้องให้มีการรับรองอำนาจปกครองตัวเองของชนชาติทิเบตอย่างเต็มที่”

ด้านทะไล ลามะได้กล่าวแก่ที่ประชุมรัฐสภาแดนสปาเก็ตตี้ในเช้าวันจันทร์ ว่าผู้นำจีนยังคงกดขี่ชาวทิเบตในแดนหลังคาโลกหลังจากเกิดจลาจลนองเลือดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จากรายงานของ สำนักข่าว ANSA

“การรับรองทะไล ลามะ เป็นผู้เจรจานั้น เป็นก้าวแรก ที่จะทำให้จีนรับรองท่านทะไล ลามะ พร้อมกันนี้ รัฐบาลและรัฐสภาแห่งอิตาเลียน ก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมของชาวทิเบต” Matteo Mecacci

ทั้งนี้ การประท้วงต่อต้านอำนาจปกครองของจีนปะทุเป็นจลาจลในลาซาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ปีที่แล้ว โดยขยายวงไปยังชุมชนทิเบตในมณฑลในจีนที่ติดต่อกับทิเบต รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียชี้ว่า ชาวทิเบตมากกว่า 200 คน ถูกสังหาร และราว 1,000 คน บาดเจ็บ ระหว่างจีนส่งทหารเข้ามาปราบปราม

นอกจากนี้ กลุ่มรณรงค์สิทธิทิเบต “อินเตอร์เนชั่นนัล แคมเปญ ฟอร์ ทิเบต” เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนได้ปฏิบัติการรักษาความสงบในลาซา โดยมีการตรวจสอบประชาชนหลายพันคน และมีการจับกุมกักขังชาวทิเบตนับสิบคนก่อนครบรอบ 50 ปี ของการลุกฮือใหญ่ในทิเบตเมื่อปี 2502 (1959).
กำลังโหลดความคิดเห็น