xs
xsm
sm
md
lg

โอบาม่าตราหน้าจีน "นักปั่นเงิน" สงครามการค้าดุเดือดแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แคชเชียร์ของโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน กำลังนับเงินหยวน ทั้งนี้นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ ว่าที่รมว.คลัง สหรัฐฯระบุว่ารัฐบาลของนายบารัค โอบามา จะกดดันให้จีนเลิกบงการค่าเงินหยวน (ภาพ-เอเอฟพี)
เอเจนซี – โอบาม่าเปิดประเด็นร้อน ซึ่งอาจจุดชนวนวิวาทการค้ากับจีน ตราหน้าพญามังกรเป็น “นักปั่นเงิน” ซึ่งเป็นถ้อยคำรุนแรง ที่รัฐบาลสหรัฐฯหลีกเลี่ยงมาตลอด นักวิเคราะห์เชื่อรัฐบาลใหม่จะกดดันเรื่องค่าเงินหยวนอย่างเปิดเผยและหนักข้อกว่าที่ผ่านมา

นาย ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ระบุในหนังสือตอบข้อซักถามของวุฒิสมาชิก เพื่อรับรองการแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสฯ ( 22 ม.ค.) ว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า เชื่อว่าจีนกำลังปั่นค่าเงินหยวน โดยผู้นำสหรัฐฯ มีข้อสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก

โอบาม่า ซึ่งขึ้นบริหารประเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่าน ได้ให้คำมั่นว่า “จะรุกใช้ช่องทางการทูตทุกช่องทาง ที่เปิดให้แก่เขา เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติด้านสกุลเงินของจีนให้ได้” นายไกธ์เนอร์ ระบุ

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กระทรวงการคลังยังต้องหลีกเลี่ยงการเรียกจีนว่าเป็นนักปั่นเงินตราในรายงานการทบทวนสกุลเงินทั่วโลกในช่วงครึ่งปี แต่ก็ยอมรับว่าเงินหยวนอ่อนค่าอย่างไม่สมเหตุผลเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

นายเอสวาร์ ปราสาท อดีตหัวหน้าแผนกจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เห็นว่า การตราหน้าจีนตรง ๆ เช่นนี้ เป็นการเปิดเวทีสงครามทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ซึ่งต่างก็บอบช้ำจากวิกฤตการเงินโลก และตั้งแต่ช่วงปีหน้าไป สงครามจะร้อนแรงยิ่งขึ้น

ข้อกล่าวหาของประธานาธิบดีโอบาม่าเกิดขึ้นในช่วงที่จีนพยายามกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยการส่งออก ซึ่งได้เปรียบจากเงินหยวนอ่อนค่า โดยไม่สนใจคำแนะนำของนานาชาติ ที่ให้ลดการพึ่งพาการส่งออก และหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแทน

นายปราสาท ชี้ว่า การระบุเช่นนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลโอบาม่าจะออกมากดดันประเด็นค่าเงินหยวนอย่างเปิดเผย และดุเดือดกว่ายุทธศาสตร์สมัยประธานาธิบดีบุช ที่ใช้วิธีกระทุ้งในลักษณะเป็นการส่วนตัว เพื่อให้จีนปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่า

นายโอบาม่าเคยกล่าวหาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า จีนบีบไม่ให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามความเป็นจริง เพื่อเอื้อการส่งออก นับเป็นการประโคมข้อกล่าวหาของส.ส. สหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่พอใจที่นับวันสหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินหยวน ส.ส. เหล่านี้พยายามผลักดันให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรจีน

ด้านนายแบร็ด เซ็ตเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่าจะมุ่งเน้นหนักไปที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน โดยให้เป็นประเด็นหลักในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ขณะที่นายไกธ์เนอร์ ยังระบุเป็นนัยด้วยว่า สหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้หลายประเทศ เช่นจีนบ่อนทำลายหลักการค้าอย่างยุติธรรม

“ คำถามก็คือจะเริ่มดำเนินการในประเด็นนี้เมื่อใดและอย่างไร เพื่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสียหาย” ว่าที่รัฐมนตรีคลังระบุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่าอาจมีทางเลือกจำกัดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ ต้องพึ่งเงินทุนจากจีนจำนวนมหาศาล โดยจีนแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะผู้ปล่อยเงินกู้ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 มาจีนถือครองพันธบัตรของสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงถึง 652,900 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

นายแอนดรูว์ บัสช์ นักกลยุทธ์ด้านการปริวรรตเงินตราต่างประเทศของบีเอ็มโอ แคพปิตอล มาร์เก็ตส์ (BMO Capital Markets) เตือนว่า การดำเนินการใด ที่ทำให้จีนเกิดความเข้าใจผิด และขายพันธบัตรเหล่านั้น ย่อมเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ซึ่งทำให้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลังเล ที่จะเรียกจีนว่า นักปั่นเงิน

ทั้งนี้ ส.ส. สหรัฐฯ เคยเสนอให้ตรากฎหมาย เพื่อจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงขึ้น หากจีนยังไม่ยอมปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเคลื่อนไหวอย่างอิสระ นอกจากนั้น ยังเสนอให้กำหนดการปั่นเงินตรา เข้าข่ายการให้เงินอุดหนุนผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดทางให้บริษัทของสหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนได้

จีนโต้สหรัฐฯหาข้ออ้างฟื้นลัทธิกีดกันการค้า

ในวันเสาร์(24 ม.ค.) สำนักข่าวซินหัวรายงานการโต้ตอบของซู หนิงรองผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารจีน ต่อคำกล่าวหาเรื่องจีนปั่นค่าเงินของว่าที่ขุนคลังสหรัฐฯ ว่าจะทำให้การระบุสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตการเงินโลกเป๋ไป นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการหาข้ออ้างใดๆที่จะนำไปสู่การฟื้นชีพของลัทธิกีดกันการค้า เนื่องจากมันไม่ส่งผลดีใดๆกับการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งไม่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น