เอเอฟพี – ศาลเมืองสือเจียงจวงนั่งบัลลังก์เช็คบิลผู้ต้องหาพัวพันคดีนมปนเปื้อนเมลามีนรายตัว โดยพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต "เทียน เหวินหวา" อดีตประธานบริษัทนมปนเปื้อนเมลามีน "ซันลู่" และให้ประหารชีวิตนักโทษอีก 2 ราย
วันนี้ (22 ม.ค.) ศาลประชาชนกลางเมืองสือเจียงจวง มณฑลเหอเป่ยได้พิพากษาโทษผู้ต้องหาพัวพันคดีนมปนเปื้อนเมลามีนจำนวน 21 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ เทียน เหวินหวา อดีตประธานบริษัทนม “ซันลู่” วัย 66 ปี โดยศาลพิพากษาเทียนจำคุกตลอดชีวิต พร้อมปรับเงินเธอเป็นเงินมากกว่า 20 ล้านหยวน โทษฐานผลิตและจำหน่ายนมปนเปื้อนสารพิษ
ส่วนผู้ร่วมงานของเธออีก 3 คนถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี นอกจากนี้ยังได้ติดสินโทษประหารชีวิตนักโทษชายอีก 2 รายโทษฐานผลิตและจำหน่ายนมเมลามีนด้วย โดยตามมาตรา 141 และ 144 ของกฎหมายอาญาจีนระบุว่า บุคคลใดที่เจตนาผลิต หรือจำหน่ายอาหารที่ปนเปื้อนสารที่ไม่ใช่สารผสมอาหาร จนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย หรือเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ให้มีโทษประหารชีวิต
พร้อมกันนี้ ศาลประชาชนกลางยังได้สั่งให้บริษัทซันลู่จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึง 50 ล้านหยวน (7.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยก่อนหน้านี้ ซันลู่ กรุ๊ป ได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาลเมืองสือเจียจวงไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ปี 2551 เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดย หวัง เจี้ยนกั๋ว โฆษกของทางการเมืองสือเจียจวงออกมาเผยว่า ในเบื้องต้นพบว่าซันลู่มีหนี้สินสูงถึง 1,100 ล้านหยวน หรือ 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กรณีนมปนเปื้อนเมลามีน ซึ่งเป็นสารเคมีใช้ผลิตพลาสติกและปุ๋ยนี้ ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2551 โดยซันลู่ เป็นบริษัทแรกที่ถูกตรวจพบว่าจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนเมลามีน และส่งผลให้เด็กทารกที่ดื่มนมยี่ห้อนี้เสียชีวิตไป 6 ราย ล้มป่วยอีก 294,000 ด้วยอาการนิ่วในไต
การตรวจพบนมปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบยี่ห้ออื่น และพบว่าผู้ผลิตนมจีนอีก 21 รายก็จำหน่ายนมปนเปื้อนเมลามีนด้วยเช่นกัน และได้มีการเปิดโปงวงจรอุบาศก์ในอุตสาหกรรมนมแดนมังกร ที่มีการเติมสารเมลามีน ซึ่งที่เกษตรกรรู้จักกันในชื่อ “ผงโปรตีน” เพื่อเพิ่มค่าวัดปริมาณโปรตีนให้สูงขึ้น
กรณีนมปนเปื้อนเมลามีนครั้งนี้กลายเป็นข่าวฉาวที่บ่อนทำลายชื่อเสียงสินค้า "เมดอิน ไชน่า" อีกครั้งหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเหตุทางการจีนก็มีความพยายามที่จะบรรเทาความกังวลจากทั่วโลก ดังเช่นการผุดมาตรการตรวจสอบวงจรการผลิตนมทั้งหมดอย่างเข้มงวด และเมื่อเดือนที่แล้วจีนได้สั่งให้บริษัทนมจีน 22 แห่งจ่ายเงินค่าเสียหายชดเชยให้แก่ครอบครัวทารกที่เสียชีวิตและล้มป่วยรวมเป็นเงิน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตามทางครอบครัวและทนายของพวกเขาออกมาแฉว่าบางครอบครัวยังไม่ได้รับเงินเลย บางครอบครัวได้รับเพียง 300 เหรียญสหรัฐเท่านั้น (ราว 10,000 บาท) โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า กว่า 200 ครอบครัวได้ยื่นฟ้องไปยังศาลสูง เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเพิ่ม