อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัล ทรีบูน - เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. เรือพิฆาต 2 ลำและเรือลำเลียง 1 ลำได้เดินทางออกจากท่าเรือในประเทศจีน เพื่อปฏิบัติการรบนอกประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1433 ซึ่งการตัดสินใจเข้าร่วมปราบปรามโจรสลัดในน่านน้ำใกล้ประเทศโซมาเลียครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเติบใหญ่ของจีน ในฐานะมหาอำนาจของโลก
ปฏิบัติการครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ที่จะสร้างความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางทะเลร่วมกับจีน เสียก่อนที่จีนจะสร้างนิสัยในการจู่โจมทางทหารเพียงลำพัง
จีนได้ใช้เส้นทางทะเลอย่างฟรีๆมานานแล้ว เพราะจีนได้ประโยชน์จากเส้นทางการค้าและลำเลียงพลังงานทางทะเล ซึ่งส่งให้เศรษฐกิจจีนบูมขึ้นมา ในขณะที่ประเทศอื่นๆต้องลงทุนเปิดพื้นที่ทางทะเล
แต่หลังจากรัฐบาลปักกิ่งร่ำรวย, และมีหน้ามีตาในเวทีโลกมากขึ้น ทำให้เกิดความคาดหวังว่ารัฐบาลปักกิ่งจะมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาความปลอดภัยของโลก และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้ว ที่สองยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งตื่นขึ้นอย่าง จีนและอินเดีย จะมีส่วนร่วมในฐานะผู้คุ้มครองความปลอดภัยทางทะเล โดยใช้กองเรือซึ่งตามปกติแล้วจะใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสินค้าของตัวเอง มาร่วมต่อต้านโจรสลัด,การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี รวมทั้งช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ
จังหวะเวลาได้ถูกเร่งเร้ามากขึ้น เมื่อโจรสลัดโซมาเลียบุกปล้นเรือจีน ภาพจากสื่อที่แสดงให้เห็นลูกเรือชาวจีนถูกบังคับให้นั่งลงกับพื้น ภายใต้กระบอกปืนที่จ่อมาหาของเหล่าโจรสลัด ทำให้จีนยากที่จะปฏิเสธที่จะส่งกองเรือเข้าร่วมปราบปรามโจรสลัดได้ นอกจากนี้แนวคิดของทางการอินเดีย ที่จะขยายอำนาจสู่มหาสมุทรอินเดีย เป็นเขตอิทธิพลของอินเดีย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนต้องตัดสินใจในครั้งนี้
วิฤตการณ์โจรสลัดโซมาเลียเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะในการเปิดบทบาทปฏิบัติการทหารในน่านน้ำทะเลของนาวีจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งจำเป็นที่จะผ่อนคลายนโยบายไม่แทรกแซงกิจการนอกประเทศ เนื่องจากผลประโยชน์ของจีนและชีวิตของชาวจีนกำลังอยู่ในอันตราย องค์การสหประชาชาติก็สนับสนุนปฏิบัติการปราบปรามโจรสลัดในน่านน้ำใกล้ประเทศโซมาเลียครั้งนี้ ซึ่งทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลโซมาเลียก็ยินดีที่จะให้จีนมีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ในช่วงที่จีนกำลังเจ็บปวดกับเศรษฐกิจ การแสดงแสนยานุภาพทางทหารก็เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจทางการเมืองที่ชาญฉลาดอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ยังมีตรรกะที่ลึกซึ้ง ที่สนับสนุนให้จีนใช้นโยบายการทูตผ่านเรือปืน โดยนักยุทธศาสตร์ของจีนต่างกังวลถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในน่านน้ำทะเล เช่น ที่ช่องแคบมะละกา ซึ่งกองทัพเรือของอเมริกาที่มีอิทธิพลอยู่ในบริเวณนั้น สามารถเข้ามาขัดขวางผลประโยชน์ของจีนได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ ภารกิจพื้นฐานของกองทัพจีนยังคงมุ่งที่การหยุดยั้งไต้หวันประกาศเอกราช และสกัดกั้นกองทัพสหรัฐฯแทรกแซงในยามศึกสงคราม
นอกจากนี้การขยายแสนยานุภาพกองทัพ ยังทำให้จีนมีทางเลือก และขยายบทบาทกว้างขึ้น เช่น ต่อต้านการปิดกั้นเส้นทางขนส่งเชื้อเพลิง, ป้องปรามขั้วอำนาจอื่นๆ และปกป้องผลประโยชน์ของจีนได้ไกลออกไป ซึ่งการมีเรือโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก, เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์, เรือเติมน้ำมัน, เรือพยาบาลขนาดใหญ่ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน ต่างช่วยเสริมบทบาทการออกสู่ทะเลลึกของจีนทั้งสิ้น
หลังจากหลายทศวรรษที่จีนมีแค่กองกำลังรักษาชายฝั่งที่ล้าสมัย จีนได้เริ่มขยายแสนยานุภาพทางทะเลตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกา,ญี่ปุ่น,อินเดีย, ออสเตรเลีย และชาติอื่นๆ และถึงแม้ว่าจะไม่มีใครสงสัยต่อข้ออ้างของจีนที่ต้องการสร้างสังคมโลกที่สมานฉันท์ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจีนจะเปลี่ยนเป็นมหาอำนาจที่น่าสะพรึงกลัวได้ในวันไหน
จีนมีสิทธิ์เช่นเดียวกับชาติที่ทำการค้าอื่นๆ ที่จะปกป้องตัวเองในน่านน้ำที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองในแหลมแอฟริกา เรือรบจากสหภาพยุโรป,สหรัฐฯ,อินเดีย,รัสเซีย หรือแม้แต่มาเลเซียก็จัดกองกำลังลาดตระเวนอยู่ในบริเวณนั้นแล้ว ส่วนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็เตรียมจะเข้าร่วมเช่นกัน และจีนก็คงไม่อาจที่จะฝากภาระการรักษาความปลอดภัยทางทะเลนี้ไว้กับสหรัฐฯ และอินเดียตลอดไป
เรื่องท้าทายในขณะนี้ คือ การหลอมรวมปฏิบัติการร่วมระหว่างกองเรือนานาชาติ ซึ่งการเข้าร่วมปฏิบัติการของจีนครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จีน,สหรัฐฯและอินเดีย รวมทั้งชาติอื่นๆจะสร้างกฎเกณฑ์ความร่วมมือและการสื่อสารทางทะเล ซึ่งจะมีความสำคัญต่อสันติภาพในอนาคต เพราะในขณะนี้ กองทัพเรือของชาติต่างๆ ยังไม่มีแม้แต่ข้อตกลงพื้นฐานที่จะยุติการเฉี่ยวชนกันโดยไม่ตั้งใจ เหมือนกับสนธิสัญญาที่เคยช่วยยุติสงครามเย็นมาแล้ว
บทบาทของจีนในน่านน้ำโซมาเลีย อาจช่วยให้วอชิงตันชักชวนให้จีนเชื่อได้ว่า การเจรจาสร้างความเชื่อมั่นทางทหารนั้น มีความสำคัญทางในกระบวนการแก้ปัญหาทางการทูตในความขัดแย้งไต้หวันและทิเบต ส่วนอินเดียก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้หวาดระแวงจีน โดยอาจให้เรือจีนสามารถจอดพักหรือเติมน้ำมันได้หากแล่นมาทางตะวันตกใกล้น่านน้ำอินเดีย ฝ่ายจีนก็อาจขานรับด้วยการลดทอนความยึดมั่นในแนวคิดเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับฐานต่างๆและกลุ่มรัฐลูกค้าของตน
เสมือนกับการตะล่อมโจรสลัดแห่งวอลสตรีท จนยอมให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในด้านการเงิน ซึ่งถ้าหากการเดินทางไกลของกองทัพเรือจีนสามารถสร้างความไว้วางใจในหมู่ขั้วอำนาจทางทะเลได้ ไม่แน่ว่า โลกอาจต้องขอบคุณโจรสลัดโซมาเลีย ก็เป็นได้