เอเอฟพี – ผู้ผลิตจักรยานไต้หวันยิ้มร่ายอดจำหน่ายปี 2008 คาดพุ่งกระฉูดทุบสถิติ เหตุชาวเมืองเบนเข็มปั่นจักรยานไปทำงานแทนรถยนต์ หนีปัญหาค่าน้ำมันแพงและเศรษฐกิจตกต่ำ ด้านรัฐบาลไทเปสนับสนุนเต็มที่เตรียมขยายทางวิ่งและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เวย์น สีว์ ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน เขาเล่าว่าการได้ปั่นจักรยานออกกำลังกายนี้มันทำให้เขาเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความกระปรี้กระเปร่า และที่สำคัญคือสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ในแต่ละเดือนลงไปได้มาก โดยสีว์ ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายขายของสายการบินแห่งหนึ่งในอำเภอเถาหยวนทางตอนเหนือของไต้หวัน ก็เป็นหนึ่งในชาวไต้หวันจำนวนมากที่หันมาเลือกขี่จักรยานแทนรถยนต์ ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองและเงินเฟ้อถีบตัวสูง
สีว์เล่าว่า “การปั่นจักรยานเป็นวิธีออกกำลังกายที่ไม่ต้องเสียเงินมากมาย แล้วผมก็สนับสนุนให้เพื่อนที่บริษัทรวมทั้งเจ้านายของผมทำตามด้วย”
ปรากฏการณ์ข้างต้นนั้นนับว่ายังประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ผลิตจักรยานบนเกาะ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกจักรยานชั้นนำของโลก จนกระทั่งเมื่อกลางทศวรรษที่ 90 ธุรกิจจักรยานของไต้หวันก็ซบเซาลง เนื่องจากถูกข้อกล่าวหาทุ่มตลาด และได้ย้ายไปผลิตสินค้าในโรงงานที่แผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าแทน
ปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานต้นทุนต่ำของโลก ขณะที่ไต้หวันยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าแห่งจักรยานไฮเอนด์ เช่น จักรยานเสือภูเขา จักรยานพับได้ ซึ่งสนนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 222 เหรียญสหรัฐ (ราว 7,500 บาท) ตามที่กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันระบุ
เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมายอดส่งออกจักรยานของไต้หวันทุบสถิติใหม่แตะ 4.75 ล้านคันคิดเป็นมูลค่า 1,050 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2008 นี้เฉพาะช่วง 6 เดือนแรกยอดส่งออกจักรยานก็สูงถึง 2.76 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 635 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่มีข้อมูลทางการระบุชัดเจนถึงจำนวนจักรยานที่จำหน่ายภายในไต้หวัน แต่ผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ในปี 2007 น่าจะมีจักรยานจำหน่ายประมาณ 1 ล้านคันบนเกาะซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 23 ล้านคน
ด้านเจฟฟรี่ย์ สี่ว์ โฆษกจากบริษัทไจแอ้นท์ ผู้ผลิตจักรยานชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า “ธุรกิจจักรยานเริ่มบูมขึ้นในปี 2007 และดูท่าปีนี้ผลประกอบการของบริษัทจะดีที่สุด” พร้อมเสริมว่า “รายได้ต่อเดือนของบริษัทเราเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาพุ่งสูงทำลายสถิติ โดยเพิ่มจากปีก่อนหน้า 27% และ 35% ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่า 3,910 ล้านและ 4,120 ล้านเหรียญไต้หวัน (120 ล้านและ 126 ล้านเหรียญสหรัฐ)” และคาดว่ารายได้ในปี 2008 นี้น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% เป็น 40,000 ล้านเหรียญไต้หวันเลยทีเดียว
“พนักงานของเราทำงานล่วงเวลาตลอดเพื่อจะผลิตสินค้าให้ได้มากตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น” สี่ว์กล่าว โดยยอดสั่งซื้อสินค้าของบริษัทไจแอ้นท์นั้นมีไปจนถึงกลางปีหน้า ทำให้บริษัทคิดเพิ่มไลน์ผลิตจักรยานใหม่ในเมืองไถจง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 600,000 คันเป็น 1 ล้านคันในปีหน้านี้
ขณะที่บริษัทแปซิฟิก ไซเคิล ผู้ส่งออกจักรยานในเมืองเถาหยวนของไต้หวัน ซึ่งเริ่มจำหน่ายจักรยานพับได้เมื่อปี 2005 และนับตั้งแต่นั้นมาสินค้าของบริษัทก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวเมือง เนื่องจากเป็นจักรยานที่มีน้ำหนักเบาและพกพาสะดวก
แม็กซ์ เย่ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทเผยว่า “ปีนี้เราคาดว่ายอดจำหน่ายในไต้หวันจะเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่อยู่ที่ราว 10-30%” แม้ว่าราคาจักรยานจะพุ่งสูงขึ้น 66% เป็น 50,000 เหรียญไต้หวันต่อคันก็ตาม ทั้งนี้บริษัทแปซิฟิก ไซเคิล ซึ่งผลิตจักรยานพับได้ 40,000 คันต่อปี เร็วๆ นี้จะเปิดตัวโรงงานผลิตแห่งที่สองขึ้นในไต้หวันเพื่ออัพเกรตไลน์สินค้าเพิ่ม
โดยเอ็ด หลู่ ผู้ใช้จักรยานพับได้ในเมืองไทเปก็ให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกผ่อนคลายเวลาขี่จักรยานไปทำงาน แต่เขาก็อยากให้อากาศมันสะอาดกว่านี้ จะได้ขี่จักรยานได้อย่างสบายใจมากขึ้น “หากหลายคนหันมาขี่จักรยานแทนการขับรถ เราก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็จะได้ลดปัญหาการจราจรติดขัดไปด้วย”
ด้านทางการไต้หวันเองก็สนับสนุนให้ประชาชนหันมาขี่จักรยานมากขึ้น โดยให้คำมั่นว่าจะขยายทางวิ่งจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ มากขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียวที่มุ่งให้ประชาชนประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย