贾(gǔ) อ่านว่า กู่ แปลว่า ค้าขาย(สมัยก่อนใช้เฉพาะการเร่ขาย)
人(rén) อ่านว่า เหริน แปลว่า คน
渡(dù) อ่านว่า ตู้ แปลว่า ข้าม
河(hé) อ่านว่า เหอ แปลว่า แม่น้ำ
ในอดีต มีพ่อค้าเร่ขายของรายหนึ่ง เดินทางมาพร้อมเรือขนสินค้าอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ โดยให้เรือไหลไปตามน้ำ พลันเกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก พ่อค้าจึงรีบออกจากเรือมาตรวจสอบความเสียหายของสินค้า แต่พลาดท่าตกลงไปกลางแม่น้ำ พ่อค้าตกใจเป็นอันมาก และพยายามตะโกนขอความช่วยเหลือ
ในตอนนั้นมีชาวประมงรายหนึ่งผ่านมาเห็นเข้าจึงรีบเข้ามาช่วยเหลือ พ่อค้าเห็นดังนั้นจึงรีบตะโกนเรียก พลางบอกว่า "รีบช่วยข้าด้วย ถ้าท่านช่วยข้า ข้าจะมอบเงินให้ท่าน 100 ตำลึง"
เมื่อชาวประมงช่วยชีวิตพ่อค้าขึ้นมาและพาไปส่งบนเรือขนส่งสินค้าเรียบร้อย พ่อค้ากลับหยิบเงินให้ชาวประมงเพียง 10 ตำลึง และกล่าวว่า "เอาเงินไป 10 ตำลึงนี่ก็ทำให้เจ้าอยู่อย่างสบายๆ ไปครึ่งปีแล้ว"
ชาวประมงไม่รับเงินนั้น แต่กล่าวกับพ่อค้าว่า "เมื่อสักครู่ท่านกล่าวว่าจะมอบเงินให้ข้า 100 ตำลึง มิใช่ 10 ตำลึง"
พ่อค้าแสดงท่าทางไม่พอใจเป็นอันมาก พร้อมทั้งกล่าวว่า "เจ้าช่างเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ วันๆ ลำพังตกปลาเจ้าจะหาเงินได้สักเท่าไหร่เชียว ตอนนี้อยู่ๆ มีเงิน 10 ตำลึงหล่นใส่มือ ก็ถือว่ามากมายแล้ว"
ชาวประมงตอบโต้ว่า "ความจริงเป็นเช่นนั้น แต่เหตุผลกลับไม่ใช่ เพราะเมื่อสักครู่ แม้ว่าท่านไม่พูดว่าจะมอบเงินให้ข้า 100 ตำลึงข้าก็ยังคงช่วยชีวิตท่านอยู่ดี และครานี้กลับต่างไป เมื่อท่านกล่าวออกมาแล้วว่าจะจ่าย 100 ตำลึง ข้าเพียงหวังให้ท่านทำดั่งเช่นที่พูด"
พ่อค้าส่ายหน้า ไม่สนใจชาวประมงผู้นั้นอีก ส่วนชาวประมงถอนหายใจยาวกลับไปที่เรือของตนและพายจากไป
1 ปีผ่านไป พ่อค้ามีเหตุต้องขนสินค้าผ่านมายังเส้นทางเดิมอีกครั้ง พลันพบกับชาวประมงคนเดิมโดยบังเอิญ ทั้ง 2 ต่างจำเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีก่อนได้ดี พ่อค้าจึงถามชาวประมงว่า "ข้ามอบเงินให้เจ้า 10 ตำลึง เหตุใดไม่เอาไปตั้งตัว ทำการค้าขาย ยังคงมาเป็นชาวประมงลำบากลำบนเช่นนี้"
ชาวประมงยังไม่ทันตอบคำ เรือของพ่อค้ากลับไหลไปชนก้อนหิน เรือจึงค่อยๆ จมลงไปในน้ำ พ่อค้าตกใจมากรีบตะโกนบอกชาวประมงว่า "รีบช่วยข้า ครานี้ข้ารับประกันว่าจะจ่ายให่ท่าน 300 ตำลึงแน่นอน ไม่มีทางคืนคำ"
ครานี้ชาวประมงกลับพายเรือผ่านไปอย่างเฉยเมยพร้อมกล่าวว่า "เรียกคนที่เชื่อคำพูดท่านมาช่วยท่านจะดีกว่า ข้าไม่ต้องการเงินของท่าน และยิ่งไม่ต้องการช่วยชีวิตคนที่ไม่มีสัจจะ" จากนั้นจึงพายเรือหายลับไป
ปัจจุบัน "กู่เหรินตู้เหอ" หรือ พ่อค้าข้ามน้ำ ใช้เพื่อเปรียบเทียบกันบุคคลที่ไม่รักษาสัจจะ ยากที่จะได้รับความเชื่อถือจากผู้อื่น