滥(làn) อ่านว่า ล่าน แปลว่า ปลอม
竽(yú) อ่านว่า อี๋ว์ เป็น เครื่องเป่าโบราณ ลักษณะคล้ายแคน
充(chōng) อ่านว่า ชง แปลว่า เติม
数(shù) อ่านว่า ซู่ แปลว่า จำนวน ตัวเลข
ในสมัยโบราณ เจ้าครองแคว้นฉี นาม ฉีเซวียนกง นั้นเป็นผู้พิศมัยดนตรีการ โดยเฉพาะการสดับฟังเครื่องเป่าโบราณที่เรียกว่า อี๋ว์ (ลักษณะคล้ายแคน)โดยในวังนั้น มีนักดนตรีที่เชี่ยวชาญการเป่า อี๋ว์จำนวนถึง 300 คน และด้วยความที่ฉีเซวียนกงมีนิสัยชมชอบความคึกครื้น โอ้อวด และสุรุ่ยสุร่าย ดังนั้นทุกๆ ครั้งที่มีการบรรเลงเครื่องเป่าชนิดนี้ เขาจะสั่งให้นักดนตรีทั้ง 300 คนเป่าอี๋ว์ให้เขาฟังพร้อมๆ กันเป็นคณะใหญ่
วันหนึ่ง มีชายผู้หนึ่ง นามว่า หนันกัว ได้ฟังคำร่ำลือถึงนิสัยด้านนี้ของเจ้าแคว้นฉี จึงเล็งเห็นโอกาสสู่หนทางร่ำรวยของตนเอง ได้เดินทางไปขอพบฉีเซวียนกง โดยอวดอ้างว่าตนเองเป็นครูดนตรีที่เก่งกาจ ฝีมือการเป่าอี๋ว์จนขนาดที่ใครก็ตามเมื่อได้ยินได้ฟังเพลงอี๋ว์ของเขาต่างซาบซึ้งไปตามๆ กัน กระทั่งดอกไม้ยังสั่นไหววิหคถึงกับร่ายรำ ซึ่งเมื่อเจ้าแคว้นฉีได้ฟังคำอวดอ้างก็หลงเชื่อโดยทันที ไม่ทันได้ตรวจสอบก็รับตัวหนันกัวเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะนักดนตรีของวังหลวง
จากนั้น หนันกัวก็ปะปนอยู่ในกลุ่มนักดนตรี ทำเป็นเป่าอี๋ว์พร้อมๆ ผู้อื่น และได้รับค่าตอบแทนเท่าๆ กันทุกคน อยู่อย่างสุขสบาย
จริงๆ แล้วหนันกัวนั้นโป้ปด เพราะเขานั้นเป่าอี๋ว์ไม่เป็นแม้แต่น้อย ทุกครั้งที่ต้องบรรเลงเพลงพร้อมๆ นักดนตรีท่านอื่นๆ หนันกัวก็แค่ทำท่าทางให้เหมือนกำลังเป่า คนอื่นโยกตัวเขาก็โยกตัว คนอื่นโคลงศีรษะเขาก็โคลงด้วย ทำให้ไม่ถูกจับได้และได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับนักดนตรีผู้อื่น เขาผ่านวันเวลาแต่ละวันๆ ไปดังนี้
ทว่าความลับไม่มีในโลก วันหนึ่งฉีเซวียนกงถึงกาลสวรรคต ฉีหมินกง ผู้บุตรขึ้นครองราชย์แทน และแม้ว่าเจ้าครองแคว้นคนใหม่จะชอบฟังเพลงอี๋ว์เช่นกัน แต่แตกต่างจากผู้พ่อตรงที่ฉีหมินกงไม่ชอบการบรรเลงอี๋ว์เป็นคณะใหญ่ กลับชอบฟังเพลงอี๋ว์ที่บรรเลงจากนักดนตรีเดี่ยวๆ ครานี้นักดนตรีกำมะลอหนันกัวจึงเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะตนไม่มีความสามารถ สุดท้ายจึงตัดสินใจเก็บข้าวของหนีออกจากวัง
ผู้ที่ไม่มีความสามารถและไม่ขวนขวาย กลับใช้วิธีหลองลวงผู้อื่นไปวันๆ นั้น อาจจะหลอกผู้คนได้เพียงครั้งแต่ไม่สามารถหลอกได้ตลอดไป เพราะของปลอมย่อมต้องเป็นของปลอมวันยังค่ำ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือหมั่นขวนขวายหาความรู้ ฝึกฝนตนเอง
เป่าอี๋ว์ไม่เป็นแต่แอบปะปนอยู่ในคณะดนตรี ใช้เปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีความสามารถแต่ทำตัวปะปนกับคนมีความสามารถเพื่อหลอกลวงผู้อื่น หรือใช้กับสินค้าคุณภาพต่ำที่ปลอมปนอยู่กับสินค้าคุณภาพดีเพื่อหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด