สำนักข่าวเกียวโดรายงานขณะนี้บรรดายักษ์ใหญ่บรรษัทยาโลก ทั้งไบเออร์, กลาโซสมิธไคลน์ และโนวาติส แห่ปิดแล็ปในญี่ปุ่น ตบเท้ามุ่งสู่จีน เผ่นหนีวิกฤตอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในแดนปลาดิบ ขณะที่จีนกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ
ขณะนี้ ไบเออร์(Bayer)แห่งเยอรมนี ได้ปิดศูนย์วิจัยในโกเบ ทั้งที่ศูนย์วิจัยในโกเบเคยเป็นฐานการทดลองยาสำคัญและสร้างความภาคภูมิใจแก่ไบเออร์ในด้านเทคนิกการสร้างสเต็มเซลส์ชนิดที่เรียกว่า iPS (induced pluripotent) จากผิวหนังมนุษย์
ยักษ์ใหญ่เภสัชกรรมอันดับสองของโลกคือกลาโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ก็ได้ปิดแล็ปทดลองยาของตัวเองในสึคุเบ ในเขตอิบารากิ เมื่อปีที่แล้ว
และขณะนี้ ก็มีรายงานว่าโนวาติส ฟาร์มา เค.เค. (Novartis Pharma K.K. ) มีแผนปิดสำนักงานวิจัยในสึคุเบภายในปีนี้
บรรษัทข้ามชาติที่ครอบงำตลาดยาโลกเหล่านี้ กำลังตบเท้าเข้าสู่จีน ซึ่งกำลังเนื้อหอมดึงดูดกลุ่มบริษัทยาโลกระหว่างช่วง 10 ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลจีนได้อัดฉีดเงิน ทรัพยากรมนุษย์ และสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทต่างชาติเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้ โรช (Roch), แอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca), โนวาติส ฟาร์มา เค.เค. และGSK ได้เข้ามาสร้างหลักปักฐานวิจัยในนครเซี่ยงไฮ้กันเรียบร้อย
ทากาชิ ยากิหัวหน้าแผนกวิจัยของสำนักงานเพื่อการวิจัยอุตสาหกรรมยาของสมาคมผู้ผลิตเภสัชกรรมแห่งญี่ปุ่น เผยว่าขณะนี้กลุ่มบริษัทได้ขยายความร่วมมือการวิจัย และพัฒนากิจกรรมต่างๆเพื่อหาแหล่งทรัพยากรที่น่าสนใจ และพวกเขาก็มองไปยังชาติต่างๆเพื่อจัดตั้งความร่วมมือการวิจัย
ทากิกล่าวถึงการปิดตัวแล็ปบริษัทต่างชาติเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องคิดหนัก ขณะนี้ เขาและเจ้าหน้าที่ในวงการอุตสาหกรรมเภสัชกรรมกำลังจัดทำรายงานเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างเงื่อนไขที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติกลับมาลงทุน
มาโคะโกะ ชิมายากิ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไบเออร์ เผยเหตุผลที่ทำให้ต้องปิดศูนย์วิจัยในญี่ปุ่นเนื่องจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนายาใหม่ๆที่เปลี่ยนไป ได้แก่ วิธีการเลือกวัตถุดิบสำหรับผลิตยาตัวใหม่ และยีนส์ที่ค้นพบใหม่แต่ละตัว ล้วนมีความคุ้มครองทางสิทธิบัตร ทำให้ผู้ผลิตยาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาและการวิจัยที่หนักมาก ในที่สุด กลุ่มบริษัทก็ต้องตัดลดพื้นที่การวิจัย และปิดหน่วยวิจัยในญี่ปุ่น.