胸 (Xiōng) อ่านว่า ซยง แปลว่า อก ใจ
有 (Yǒu) อ่านว่า โหย่ว แปลว่า มี
成 (Chéng) อ่านว่า เฉิง แปลว่า ครบถ้วน สำเร็จ
竹 (Zhú) อ่านว่า จู๋ แปลว่า ไผ่
ในสมัยเป่ยซ่ง(ซ่งเหนือ) มีจิตรกรผู้หนึ่งนามว่า “เหวินถง” ฉายา อี๋ว์เข่อ ซึ่งเป็นจิตรกรผู้มีฝีมือในการวาดภาพไผ่อันเลื่องลือทั้งใกล้ไกล ทุกๆ วันจะต้องมีผู้คนมาขอร้องให้เขาวาดภาพไผ่ให้ถึงหน้าที่พำนัก
เคล็ดลับใดกันหนอ ที่ทำให้เหวินถง มีฝีมือวาดไผ่ที่เก่งกาจปานนั้น?
ความจริง เหวินถงได้ปลูกต้นไผ่หลากประเภทหลายพันธุ์ไว้รอบๆ ที่พำนัก และไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูหนาว ใบไม้ผลิหรือใบไม้ร่วง กลางวันหรือกลางคืน หรือว่าเมื่อใดก็แล้วแต่ เขามักจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของต้นไผ่อยู่ตลอดเวลา เขาสังเกตทั้งขนาดของลำต้น ความยาวของปล้องไผ่ รูปร่างของใบไผ่ สีสัน และไม่ว่าเขาพบสิ่งใดที่ผิดแผก ก็จะรีบบันทึกเป็นภาพวาดออกมาบนกระดาษ
เมื่อผ่านเดือนปีไปกับการกระทำเช่นนี้เป็นนิจ ทำให้ภาพของไผ่ในแต่ละฤดูกาล แต่ละสภาพอากาศและแต่ละช่วงเวลาได้ประทับอยู่ในใจของเขาทั้งสิ้น จากนั้นเพียงตั้งใจหยิบพู่กันขึ้นมา เพ่งมองบนกระดาษที่ว่างเปล่า ภาพของไผ่ในลักษณะต่างๆ ที่สั่งสมจากการสังเกตมาชั่วนาตาปีก็จะปรากฏขึ้นในมโนภาพของเขาทันที ดังนั้นทุกครั้งที่วาดภาพไผ่ เหวินถงจึงมีท่าทางผ่อนคลายและมั่นใจ ภาพที่รังสรรค์ขึ้นมาก็ล้วนแต่พลิ้วไหวงดงามราวกับไผ่จริงๆ
ยามที่มีผู้คนยกย่องฝีมือวาดภาพของเขา เหวินถงมักถ่อมตนและกล่าวว่า "ข้าเพียงนำไผ่ที่สั่งสมจนคุ้นเคยอยู่ในจิตใจ วาดออกมาเป็นภาพก็เท่านั้น"
ครั้งหนึ่งมีชายหนุ่มผู้หนึ่งต้องการศึกษาการวาดภาพไผ่ จึงไปกราบนักกวีชื่อก้อง “เฉาปู่จือ” ให้เป็นอาจารย์ เนื่องจากสืบทราบมาว่า เฉาปู่จือ ยกย่องชื่นชมเหวินถง และได้ศึกษาภาพวาดของเหวินถงมาอย่างลึกซึ้ง ทว่าเฉาปู่จือเพียงมอบบทกวีให้ชายหนุ่มผู้นั้น 1 บท ความว่า “อี๋ว์เข่อวาดไผ่ ในใจมีไผ่” (“อี๋ว์เข่อ” เป็นฉายาของเหวินถง)
“ซยงโหย่วเฉิงจู๋” ใช้เพื่อเปรียบเปรยถึงการทำกิจการงานใดก็ตาม เมื่อมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำงาน ย่อมทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนี้บางครั้งยังใช้เพื่อเปรียบเทียบกับเวลาประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถรักษาความสุขุมเอาไว้ได้