xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์เอเชียหวั่นสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เควิน รัดด์ ขณะกำลังหารือกับ อู๋ ปังกั๋ว หนึ่งในผู้นำระดับสูงของจีนเมื่อเดือนเมษายน- เอเยนซี
เอเยนซี – เผยเบื้องหลังสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียแน่นแฟ้น เพราะการค้าทรัพยากรเหมืองแร่ ชี้เศรษฐกิจออสซี่โตด้วยแรงซื้อจากจีน ส่งผลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนบแน่น จนมหาอำนาจเอเชีย อินเดียและญี่ปุ่นกังวล

ปัจจุบันเศรษฐกิจออสเตรเลียคึกคักอย่างมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์ขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็พุ่งทำสถิติ แถมอัตราการว่างงานก็ต่ำสุดในรอบ 30 ปี แง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าแรงปัจจัยเบื้องหลัง ที่ส่งผลกระทบต่อความคึกคักทางเศรษฐกิจดังกล่าวคือ “จีน” เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนโตอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ความต้องการบริโภคทรัพยากรประเภทแร่ เพื่อป้อนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวจีนได้ก้าวเข้าไปสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรเหมืองแร่

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์สุดชื่นมื่นระหว่างจีนกับออสเตรเลีย ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกันได้สร้างความกังวลให้กับ ญี่ปุ่น และอินเดีย มหาอำนาจเอเชียที่หวาดระแวงว่า “จีนกำลังเล่นบทดึงออสเตรเลียเข้าสู่เขตอิทธิพล กลายเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ของตน”  เมื่อปีที่แล้วญี่ปุ่นถูกจีนเบียดตกแท่นคู่ค้าอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย จนญี่ปุ่นเริ่มกังวลว่า “ออสเตรเลียกำลังจะหลุดลอยไปอยู่กับจีน”

โดยส่วนมากการพึ่งพาทางการค้านำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดี การค้าระหว่างจีน-ออสเตรเลียสมัยที่นายกรัฐมนตรีออสซี่ยังมีนามว่า จอห์น โฮเวิร์ด ก็แน่นแฟ้นอยู่แล้ว ทว่าภายหลังเมื่อเควิน รัดด์ ซึ่งเป็นผู้นำโลกตะวันตกเพียงคนเดียวที่สามารถพูดจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว ก้าวขึ้นมานำออสเตรเลีย ความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียจึงกระชับ แน่นแฟ้นมากกกว่าเดิมจนหลายฝ่ายกังวล

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาออสเตรเลียก็เพิ่งทำการประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมการประชุมความมั่นคงจตุรมิตร (quadrilateral security dialogue) กับสหรัฐฯ, อินเดีย และญี่ปุ่น ถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้ผู้นำอินเดียกับญี่ปุ่นรู้สึกอึดอัด ชวนให้กังวลว่า “ฤาฝันร้ายจะกลายเป็นจริง”

ริชาร์ด มาร์ติน แห่ง ไอเอ็มเอ เอเชีย ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์กระแสตลาดระบุว่า “ขณะนี้ชาติเอเชียกำลังมองว่า ออสเตรเลียโปรจีนอย่างแรง ทางฝั่งอินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มองว่า เควิน รัดด์ อยู่ใต้โอวาทพญามังกร”

ทั้งนี้ระหว่างเดินทางเยือนต่างประเทศราวช่วงเดือนเม.ย. รัดด์ได้เดินทางไปเยือนยุโรปและสหรัฐฯ แต่สำหรับเอเชียแล้วรัดด์เลือกเดินทางไปเยือนประเทศเดียวคือจีน การกระทำดังกล่าวทำให้อดีตนักการทูตระดับสูงของอินเดียผู้หนึ่งออกมาวิจารณ์ว่า “ออสเตรเลียกำลังก้มหัวให้กับจีน และนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียตอนนี้ก็มีลักษณะที่เน้น ถูกจูงไปทางจีนมากขึ้น”

บี รามาน นักยุทธศาสตร์อินเดียระบุว่า “หากคุณดูสุนทรพจน์ที่รัดด์กล่าวระหว่างเยือนประเทศต่างๆ คุณจะสังเกตได้ว่ามีแต่คำว่า จีน, จีน, จีน และจีน เต็มไปหมด”

ชี้เบื้องลึกสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียก็มีปัญหา

อย่างไรก็ตามใช่ว่าความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียจะราบรื่นไร้คลื่นลมดุจน้ำนิ่ง ระหว่างการเยือนจีนรัดด์ได้หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชน และบทบาทของจีนในทิเบตมาพูดว่าเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งเป็นคำพูดที่สะกิดต่อมอารมณ์ความรู้สึกของจีนไม่น้อย

นอกจากนี้ระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่านออสเตรเลียเมื่อเดือนเม.ย. ที่กรุงแคนเบอร์ร่า ชาวออสเตรเลียนก็รวมตัวประท้วงจีน แสดงความสนับสนุนทิเบต แถมหนังสือพิมพ์ดิ ออสเตรเลียนยังตีพิมพ์ข้อความตำหนิจีนว่า “กดทับสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นหัวใจของประชาธิปไตยของเรา”

นอกจากภาคประชาชนแล้วรัฐบาลออสซี่เองก็กังวลเรื่องจีนรุกเข้ามาซื้อกิจการบริษัทเหมืองแร่ เพื่อประกันความมั่นคงให้กับอุปทานแร่สำคัญอาทิ เหล็ก และยูเรเนียม เมื่อเดือนก.พ. การที่ ไชนาลโค คอร์ป (Chinalco Corp.) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้เข้าซื้อหุ้น ริโอ ตินโต หนึ่งในยักษ์เหมืองแร่ของออสเตรเลียจำนวน 9% ทำให้รัดด์เริ่มแสดงความไม่พอใจออกมา เนื่องจากการเข้าซื้อดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ตัดตอนการเข้าซื้อหุ้นริโอ ตินโต โดย บีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ออสเตรเลียนรายใหญ่ คู่แข่งสำคัญของริโอ ทั้งนี้จีนเข้าตัดตอนเพราะกังวลว่า “หากบีเอชพีครองตลาดได้ อาจทำให้ทางออสเตรเลียมีอำนาจในการกำหนดราคาแร่เหล็กมากขึ้น”

การกระทำดังกล่าวทำให้รัดด์ออกมาประกาศว่า “จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ด้วยการทบทวนการลงทุนของบริษัทจีน”

ออสเตรเลียเริ่มตั้งคำถามว่า “ตนกำลังถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเหมืองแร่ของจีนหรือไม่” และความกังวลดังกล่าวก็ยิ่งทวีมากขึ้น เมื่อมีการคิดคำนวณว่า วันหนึ่งจีนอาจเปลี่ยนดุลอำนาจในเอเชียแปซิฟิก ด้วยการกลายมาเป็นผู้ท้าทายศักดานุภาพทางทหารของสหรัฐฯในบริเวณนี้

ริชาร์ด มาร์ตินระบุว่า “มีกระแสความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของจีนในออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในออสเตรเลียหลายปี แต่ทั้งสองชาติก็ไม่เคยทำการรุก เข้าครอบครองหุ้นบริษัทระดับยักษ์ในออสเตรเลียอย่างริโอ ตินโต”

อย่างไรก็ตามความตึงเครียดดังกล่าวอาจเป็นเศษส่วนเล็กๆ และคงไม่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจีนอย่างรุนแรง ผลสำรวจเมื่อปี 2005 ของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ระบุว่า ชาวออสเตรเลียนมองสหรัฐฯเป็นภัยมากกว่าจีน นอกจากนี้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คนพบว่า 35% กังวลเกี่ยวกับบทบาทของจีน ขณะที่ 57% กังวลเกี่ยวกับนโยบายต่างประทศของสหรัฐฯมากกว่า โดยเฉพาะการบุกอิรัก นอกจากนี้ประชาชนส่วนมากยังต่อต้านการยืนอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐในประเด็นไต้หวัน

ออสเตรเลียจึงยืนอยู่หน้าทางแพร่ง ด้านหนึ่งก็ต้องการดำรงรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯที่มีมาอย่างยาวนาน ด้านหนึ่งก็ต้องการสานสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้เศรษฐกิจแดนจิงโจ้โตอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี

การที่จีนรุกเข้ามาในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของออสเตรเลีย ทำให้บัณทิตจบใหม่ต่างตบเท้าเข้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่อย่างเมามันส์ แลกกับค่าตอบแทนที่สูงลิบ ผู้คนจำนวนมากแห่เข้าไปทำงานในควีนส์แลนด์ และออสเตรเลียตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมด้วยเหมืองแร่

ความคลั่งไคล้งานเหมืองดังกล่าวส่งผลให้กองทัพออสเตรเลียถึงกับเชิญวิกฤตด้านบุคลากร เพราะนักบินส่วนมากแห่ไปทำงานขับเครื่องบินเล็กเพื่อขนส่งคนงานไปยังเหมือง ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น