xs
xsm
sm
md
lg

ใครได้ใครเสียเมื่อหยวนแข็งทะลุ 7.0 ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซินหัวเน็ต/ไชน่านิวส์ – หลังเงินหยวนได้ทดลองทะลุกำแพง 7.0 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีหลายฝ่ายมองว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว ก็จะมีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็จะเป็นผู้ที่นำเข้า หรือจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศ ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์ย่อมเป็นกลุ่มส่งออก และกลุ่มคู่ค้ากับแผ่นดินใหญ่ ที่ลุกลามไปจนถึงบ้านพักคนชรา และกลุ่มสังคมสงเคราะห์ของฮ่องกง

เมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) เงินหยวนได้แข็งค่าขึ้นมาจนทะลุ 7.0 หยวนไปอยู่ที่ 6.9995 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมาปิดที่ 7.0015 หยวนต่อดอลลาร์ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินฮ่องกงที่ผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯก็ตกลงมาจนเหลือ 0.89884 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 หยวน โดยภายในปีนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ทำนิวไฮมาแล้วกว่า 30 ครั้ง และได้แข็งค่าขึ้นมาทั้งสิ้นราว 4.33%

การที่เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น ย่อมส่งผลดีและผลเสียในแง่ที่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้บริษัททัวร์กล้าที่จะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นการท่องเที่ยวด้วยเรือยอร์ชหรูเป็นต้น เนื่องจากเมื่อเงินแข็งค่าขึ้น อำนาจในการจับจ่ายในต่างแดนก็จะสูงตามไปด้วย

อีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงได้แก่บรรดานักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในสหรัฐฯ อย่างเช่นลูกสาวของคุณหันจากเซี่ยงไฮ้ ที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งแต่เดิมคุณหันจะต้องรับผิดชอบค่าใชจ่าย จากที่ปีก่อนต้องส่งเงินค่าเล่าเรียนให้ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินหยวน 62,000 หยวน แต่พอมาเดือนที่แล้ว ส่งเงินดอลลาร์ให้ในปริมาณเท่ากันแต่ว่ากลับจ่ายเป็นเงินหยวนเพียง 56,000 หยวนเท่านั้น

หรือกลุ่มที่นิยมการชอปปิ้ง อย่างคุณจูที่เพิ่งไปสหรัฐฯกลับมาก็เล่าว่า กลับมาครั้งนี้ ได้ซื้อนาฬิกาในราคาเรือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯมาเป็นของขวัญราคาของชิ้นเดียวกันถูกกว่าปีที่แล้วตั้ง 700 กว่าหยวน ขณะที่คุณฟู่ ที่นิยมไปชอปปิ้งในฮ่องกงได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2006 ต้องใช้เงิน 110 หยวนเพื่อแลก 100 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่ตอนนี้ใช้แค่ 90 กว่าหยวนเท่านั้น ในขณะที่ราคาสินค้าในฮ่องกงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่กำลังซื้อของฉันกลับมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือกลุ่มที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเช่นสายการบิน น้ำมัน กระดาษเป็นต้น

ส่วนคนที่ต้องรับผลในด้านลบอย่างเห็นได้ชัดก็คงเป็นบรรดากลุ่มธุรกิจส่งออก ที่ผลกำไรจะน้อยลงทันทีเมื่อเงินหยวนแข็งค่า อย่างคุณหลิว เจ้าของโรงงานรองเท้าในฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ที่บ่นว่าการแข็งค่าของเงินหยวน ทำให้ธุรกิจเอาตัวรอดได้ยากขึ้น ในขณะนี้หากยังเสนอราคา หรือคิดราคาด้วยดอลลาร์ บวกกับค่าขนส่งที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้ผลกำไรหดลงไปมาก

ธุรกิจส่งออกอื่นๆก็เดือดร้อนกันไปไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า สารเคมี ที่เน้นการส่งอออกเป็นหลัก ผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่อยู่เพียงแต่ในแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แต่ยังลุกลามออกไปถึงฮ่องกงที่ค่าเงินอ่อนยวบลงตามดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยขณะนี้ชาวฮ่องกงกำลังประสบกับปัญหาราคาสินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชำระ ผ้าอ้อมเด็ก ที่ผลิตจากจีนที่มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังกระทบไปถึงผู้สูงอายุ ที่ถูกส่งไปอยู่ในบ้านพักคนชราในแผ่นดินใหญ่ ที่หลังจากอัตราแลกเปลี่ยนต่างกัน 10% ทำให้บ้านพักคนชราในตงกว่าน เริ่มเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเงินหยวนแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น อัตราแลกเปลี่ยนยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ โดยอาสาสมัครส่วนหนึ่งจากฮ่องกงได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว กิจกรรมที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน หรือผู้ยากไร้ในแผ่นดินใหญ่ ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึุ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 10% ทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้แต่เดิมไม่เพียงพอ จนต้องเบิกเพิ่มเติมจากงบส่วนกลางอีก

ในขณะที่บริษัทฮ่องกงบางแห่ง ที่มีการส่งพนักงานไปประจำสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เริ่มต้นเปลี่ยนมาจ่ายเงินเดือนด้วยเงินหยวนแล้ว อย่างเช่นคุณเฉิน ที่ทำงานอยู่ในบริษัทสาขาในประเทศจีน ที่เล่าว่า ปลายปีก่อนผู้บริหารในบริษัทสาขาได้รวมตัวกันไปประชุมกับบริษัทในฮ่องกง และหลังจากครั้งนี้ ทางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้เราเป็นเงินหยวน

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ในขณะที่เงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯได้แข็งค่าขึ้น เพื่อป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ได้ทำให้ธุรกิจต่างๆอาทิสิ่งทอ หรือชิปปิ้งที่ได้เริ่มมีการเสนอราคา และซื้อขายสินค้าด้วยเงินหยวนแทนเงินดอลลาร์ หรือหากลูกค้ายืนยันที่จะให้เสนอราคาด้วยเงินดอลลาร์ ใบเสนอราคานั้นก็จะมีผลเพียงแค่ 1 สัปดาห์ แทนที่จะเป็น 1-2 เดือนเหมือนในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น