ผู้จัดการออนไลน์ – สถานการณ์ในลาซายังตึงเครียดแม้ว่าทางการจีนยืนยันควบคุมความสงบอยู่หมัดแล้ว แต่ประชาชนขวัญเสียไม่กล้าย่างกรายออกจากบ้าน ด้านรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุจลาจลดังกล่าวล่าสุดพุ่งแตะ 80 ศพ ขณะเดียวกันรัฐบาลปักกิ่งก็เจอนานาชาติจวกยับ ที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนโอลิมปิกปักกิ่งที่จีนเป็นเจ้าภาพจะเปิดม่านขึ้นเพียง 5 เดือนเท่านั้น
หลังจากเกิดเหตุลามะทิเบตชุมนุมประท้วงต่อต้านการปกครองจากรัฐบาลปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งจุดไฟเผารถยนต์ ร้านค้า ปล้นสะดมร้านค้าชาวจีน ทำลายรถตำรวจ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระบองไฟฟ้า ทั้งยิงกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง และนำรถถังมาแล่นบนถนน
ล่าสุดในวันอาทิตย์ (16 มี.ค.) สถานการณ์ในเมืองลาซาของทิเบตยังคงตึงเครียดท่ามกลางการตรึงกำลังควบคุมความสงบของกองกำลังตำรวจและทหาร ชาวบ้านหลายรายให้สัมภาษณ์ว่า ยังมีทหารตรึงกำลังอยู่ตามจุดต่างๆ ของเมืองในเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ 2 หลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในเมือง ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 ที่จีนประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของพระลามะในทิเบต
ตามรายงานของสื่อรัฐบาลจีนระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 10 รายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียกลับอ้างรายงานยืนยันผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลดังกล่าวทั้งสิ้นแล้ว 80 ราย
ด้านนายกเทศบาลเมืองลาซา Doje Cezhug กล่าวยืนยันนอกการประชุมสภาประชาชนแห่งประเทศจีนที่ปักกิ่ง วันนี้ (16 มี.ค.) ว่าสถานการณ์ในลาซาอยู่ในความสงบแล้ว “เราไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกที่นี่ และตอนนี้สถานการณ์ในทิเบตก็อยู่ในความสงบแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยในเมืองลาซาเองต่างให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ของที่นี่ยังคงตึงเครียดมาก มีทหารประจำอยู่ทุกมุมของถนน ชาวบ้านต้องปฏิบัติภายใต้คำสั่งและหวาดกลัวที่จะออกนอกบ้าน “ไม่มีใครกล้าออกไปข้างนอก เราไม่แน่ใจว่ามีคำสั่งเคอร์ฟิลหรือเปล่า แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรออกไป” ชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อยู่ในลาซากล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงเข้าไปในเนปาล บริเวณชายแดนติดกับทิเบต เพื่อจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนทิเบตด้วย
หลังเกิดเหตุไม่สงบที่ลาซา เมื่อวันเสาร์ (15 มี.ค.) คอนโดลิซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้แถลงข่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในลาซา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการประท้วงเพื่อสันติภาพ แต่ลงเอยด้วยความสูญเสียชีวิต พร้อมหวั่นวิตกว่าเหตุความรุนแรงจะยืดเยื้อต่อไป
“ฉันรู้สึกกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่ามีการเพิ่มกำลังทหารและตำรวจทั้งในและนอกนครลาซาของทิเบต ซึ่งเราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจีนจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างอดทน” พร้อมกันนี้ไรซ์ยังเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวพระทิเบตและคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมเนื่องจากชุมนุมประท้วงด้วย
ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่งก็เตือนชาวอเมริกันที่ต้องการเดินทางไปยังทิเบต ให้เลื่อนการเดินทางไปก่อน และให้ใช้ความระมัดระวังหากต้องเดินทางไปยังมณฑลที่ใกล้เคียง เช่น หยุนหนัน (ยูนนาน) เสฉวน ชิงไห่ และซินเจียง เนื่องจากได้รับรายงานหลายกระแสว่ามีการชุมนุมประท้วงในมณฑลที่ติดกับทิเบตด้วย แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงเกิดขึ้น
ด้านปันเชนลามะ วัย 18 ปี ผู้นำจิตวิญญาณอันดับ 2 ของทิเบต รองจากองค์ทะไลลามะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ออกมาประณามบุคคลที่ออกมาก่ออาชญากรรม ทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมประกาศคัดค้านการกระทำทุกรูปแบบที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ และสร้างความแตกแยกระหว่างชนชาติ และหวังว่า สันติภาพและเสถียรภาพจะกลับมาสู่ชาวทิเบตโดยเร็ว
ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งปันเชนลามะองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์ที่ 11 ในปี 1995 โดยปฏิเสธลามะเกดุน โชคกี นีมา เด็กชาย ซึ่งทะไลลามะทรงคัดเลือก ภายหลังการทดสอบตามหลักความเชื่อทางศาสนาในการค้นหาบุคคล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลามะชั้นผู้ใหญ่ที่กลับชาติมาเกิด ส่วนลามะเกดุน โชคกี ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเวลานั้น ท่านมีอายุได้ 6 ขวบ โดยเชื่อกันว่าท่านถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัวอยู่แต่ในบ้านพักมานับตั้งแต่นั้น
อนึ่ง รัฐบาลปักกิ่งได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานทิเบตในปี 1950 โดยทะไลลามะเสด็จลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียในปี 1959 หลังจากชาวทิเบตลุกฮือโค่นล้มผู้ปกครองจีนไม่สำเร็จ