ซีน่าเน็ต – ตัวเลขสุทธิของการลงทุนในตลาดจีนทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารกลางต้องเร่งออกพันธบัตรจำนวนมากสุดในรอบปี เพื่อดูดซับเงินออกจากระบบ คนวงในคาดครึ่งปีแรกนี้อาจมีการปรับขึ้นเงินสำรองธนาคารพาณิชย์อีกหลายครั้ง
เพิ่งผ่านพ้นวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีนไปหมาดๆ ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน(พีบีโอซี) ก็เริ่มเหยียบคันเร่งต่อ เดินหน้าประกาศออกพันธบัตรจำหน่ายสู่สาธารณะ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทมีมูลค่า 195,000 ล้านหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ในพันธบัตรที่ออกชุดนี้ พันธบัตรอายุ 3 ปีมีจำนวนมากถึง 90,000 ล้านหยวน ซึ่งที่ผ่านมา 6 สัปดาห์ของปีนี้ในตลาดมีการปล่อยพันธบัตรอายุ 3 ปีทั้งสิ้นเพียง 23,000 ล้านหยวน ขณะเดียวกันพันธบัตรอายุ 1 ปีจากปีที่แล้วปล่อยเพียง 60,000 ล้านหยวน ก็เพิ่มเป็น 75,000 ล้านหยวน แต่พันธบัตรอายุ 3 เดือนกลับลดลางจากคราวก่อนที่ออก 45,000 หยวน มาอยู่ที่ 30,000 ล้านหยวน
ในความเป็นจริง การที่มีการออกพันธบัตรเพื่อดูดเงินออกจากระบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายของตลาด เพราะว่าตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา มีการลงทุนสุทธิในตลาดทุนที่มากถึง 642,000 ล้านหยวน และแม้ว่าในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจะได้ปรับขึ้นเงินสำรองธนาคารพาณิชย์อีก 0.5% ซึ่งทำให้มีเงินถูกใช่ในระบบธนาคารอีก 200,000 ล้านหยวนแล้วก็ตาม ทว่าเงินที่ยังไหลเวียนเพิ่มเติมในระบบนอกจากเงินลงทุน 442,000 ล้านหยวนที่เหลือยังมีเงินฝากในคลังอีก30,000 ล้านหยวน
ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนก่อนและหลังช่วงตรุษจีนในปีนี้ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยก่อนหน้านั้นในปี 2006 ในช่วงเวลาเดียวกันมีการลงทุนสุทธิอยู่ที่ 277,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่มีการดูดเงินออกจากระบบเพียง 120,000 ล้านหยวน
ไม่เพียงแต่ช่วงก่อนหรือหลังตรุษจีนเท่านั้น จากนี้ไปจนถึงกลางปี จะเงินทุนปล่อยออกมาสู่ตลาดอีกราว 1.3 ล้านล้านเหยวน โดยในเดือนมี.ค. จะมีการปล่อยออกมาร่วม 600,000 ล้านหยวน โดยตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมถึงเงินต่างชาติ
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาพคล่องล้นเช่นนี้ ะนาคารกลางจีนจะใช้วิธีการใดในการแก้ไข? จากเหตุผลที่มีอยู่ทำให้คาดได้ว่า หลังจากช่วงสัปดาห์ทองวันหยุดตรุษจีนแล้ว ธนาคารกลางจะมีการเพิ่มมาตรการและความเข้มข้นในการดูดซับเงินออก นอกจากจะลงมือไปกับการควบคุมปริมาณแล้ว ธนาคารกลางน่าจะทำควบคู่พร้อมกันไปหลายด้าน ซึ่งการปล่อยพันธบัตร 3 ปีเพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นสัญญาณที่เห็นได้ชัดยิ่งประการหนึ่ง
กับประเด็นดังกล่าว ผู้คนในวงในได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนอกจากการปล่อยพันธบัตรออกมาแล้ว วิธีการหลักที่นิยมใช้กันก็คือการปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ จึงเชื่อได้ว่าในครึ่งปีนี้ ะนาคารกลางอาจจะต้องมีการปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์อีกหลายครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าทางแบงก์ชาติอาจจะมีมาตรการใหม่ๆที่สามารถช่วยควบคุมในระยะยาวได้ออกมาด้วย