xs
xsm
sm
md
lg

5 ธุรกิจยอดฮิตคนจีนสนใจลงทุนไทยบีโอไอเผยยอดลงทุนปี 50 ทะลัก 1.7หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - ยอดลงทุนจากจีนทะลัก 1.7 หมื่นล้านปี 50 บีโอไอ พบ 5 ธุรกิจยอดฮิตคนจีนสนใจลงทุน “พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถบัส NGV และแปรรูปยางพารา” เชื่อตัวเลขขอลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่ม ขณะที่อุตสาหกรรมเบาเช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อัญมณี มีแนวโน้มลด พร้อมเปิดข้อมูล 22 บริษัทยักษ์ใหญ่จีนในไทย

ด้วยเหตุที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมีจำนวนมากกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้จีนยังเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าอย่างมหาศาลจากประเทศชั้นนำของโลก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้จีนถูกกดดันอย่างหนัก และมีการประกาศนโยบาย “เดินออกไป” เพื่อเน้นให้คนจีนหันไปท่องเที่ยวและทำการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งไทยด้วย ไม่แปลกใจเลยว่า 2-3 ปีที่ผ่านมานี้นักลงทุนจีนที่มีการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมหาศาล โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ๆ หลายกลุ่มทุน

ข้อมูลการลงทุนจากจีนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2542-2549 จีนมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยประมาณ 20.5% ซึ่งแม้ยังน้อยกว่ากลุ่ม TOP4 อันได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาเซียนอยู่มาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่น่าจับตา

“ตัวเลขอาจจะแกว่งบางปีลด บางปีมาก ปีที่ตัวเลขขึ้นมามากสังเกตได้ว่าปีนั้นมีการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย” แหล่งข่าวจาก บีโอไอ กล่าว

ยอดลงทุน 11 เดือนปี 50 ทะลัก 1.7 หมื่นล.

อย่างไรก็ดี 11 เดือนแรก ปี 2550 นี้ ตัวเลขการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากจีนแล้ว 30 โครงการ มูลค่าการลงทุน 17,000 ล้านบาท เทียบกับ 11 เดือนแรกปี 2549 ที่มีการขอการส่งเสริมการลงทุนจากจีน 22 โครงการ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าปีนี้ทั้งจำนวนโครงการก็เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เงินลงทุนก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

โดยข้อมูลการอนุมัติการลงทุนของบีโอไอให้กับทางจีน 5 ปี (2542-2549) ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เซ็กเตอร์ที่กลุ่มทุนจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมูลค่ามากที่สุดคือกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมี ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติให้ลงทุนจำนวน 15 โครงการ จำนวน 3,703.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับอนุมัติลงทุน 16 โครงการ รวมมูลค่า 2,956.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาคืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ได้รับอนุมัติ 12 โครงการจำนวนเงินลงทุนกว่า 1,774.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเบา ได้แก่กลุ่มที่ผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า เวชภัณฑ์ เครื่องเขียน ของเล่นเด็ก ชิ้นส่วนพลาสติกบางประเภทฯลฯ ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ จำนวน 1,146.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

กลุ่มต่อมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับอนุมัติการลงทุน 9 โครงการ จำนวน 579 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมแร่และเซรามิค ได้รับการอนุมัติ 5 โครงการ จำนวน 449.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มงานบริการและโครงสร้างพื้นฐาน มี 3 โครงการ 333.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ใน 7 หมวดนี้ คาดว่าหมวดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์จะเป็นกลุ่มที่ทุนจีนสนใจที่จะมาลงทุนในไทยมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขในกลุ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเบาทั้งหลายมีแนวโน้มลดลงทุกปี”

เปิดเทรนด์ 5 ธุรกิจคนจีนสนใจลงทุน

นอกจากนี้บีโอไอได้รวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปว่าธุรกิจที่คนจีนสนใจมาลงทุนในไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยพบว่า 5 ธุรกิจที่คนจีนสนใจมาลงทุนมากที่สุดคือกลุ่มพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และเอธานอล ซึ่งกลุ่มเอธานอลมีหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอแล้ว และส่วนใหญ่จะไปตั้งโรงงานการผลิตในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ,กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สำรวจ และขุดเจาะเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเหล็ก,กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า,กลุ่ม NGV เช่น ทำรถบัส NGV โดยกลุ่มนี้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติและสุดท้ายคือกลุ่มการแปรรูปโลหะและชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ชิ้นส่วนที่ทำจากยางพารา

โดยนอกจากสิทธิพิเศษทั่วๆไปแล้ว ธุรกิจบางประเภทก็จะได้รับการส่งเสริมมากกว่าปกติเช่น การลงทุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะได้รับการส่งเสริมดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นเล็กน้อย เช่นอุตสาหกรรมทั่วไปได้รับการส่งเสริมโดยยกเว้นภาษี 3 ปี แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับการส่งเสริมโดยเว้นภาษี 5 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ยังมีธุรกิจอีกหลายประเภทที่จะได้รับการส่งเสริมพิเศษจากบีโอไอด้วย เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตโซล่าร์เซลล์ จะได้รับการเว้นภาษี 8 ปี ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตใด รวมทั้งอุตสาหกรรมในหมวดเกษตรแปรรูปที่มีลักษณะส่งเสริมการเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร,อาหารสัตว์,ห้องเย็น,ขยายพันธุ์สัตว์,การประมงน้ำลึกฯลฯ อุตสาหกรรมกิจการแม่พิมพ์ อุตสาหกรรม R&D หรือการวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตก็ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมพิเศษ คือเว้นภาษี 8 ปีด้วย ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเวปไซต์ของบีโอไอที่ www.boi.go.th

22 บริษัทยักษ์จีนสยายปีกในไทย

สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่เข้ามาลงทุนในไทยมี 22 ธุรกิจ ได้แก่ CHINA WORLD BEST ประกอบธุรกิจสิ่งทอทั้งจากใยธรรมชาติและจากใยสังเคราะห์ ,Holley Groub Electric (Thailand) ธุรกิจเครื่องวัดพลังงานไฟฟ้า, HUAWEI ธุรกิจการค้าบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, ZTE (Zhongxing) ธุรกิจการให้บริการการสื่อสาร,TCL ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า,ZHONGFU ธุรกิจขวดพลาสติก ขึ้นรูปขวดพลาสติก,DONGYUN ธุรกิจแท่นพิมพ์,TONG REN TANG ธุรกิจเวชภัณฑ์

Haier ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า,Monkey King Food ธุรกิจอาหารแปรรูป,Midea ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า,Zing Whorthai ธุรกิจเม็ดพลาสติก,Sang Charoen Foundry(1987) ธุรกิจผลิตเครื่องหอม,Wo Hing Laser Mould (Thailand) ธุรกิจแม่พิมพ์, S.W.D Industry ผลิตโครงโลหะสำหรับงานก่อสร้าง ,Changhong ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า,China Southwest Aluminium ธุรกิจการค้า,CIMC ผลิตชิ้นส่วนต่อพ่วงรถบรรทุก, Taiping Ethanol ผลิตเอทานอล,Crystal Energy ผลิตชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ 4 ตัวคือ Solar Grade Silicon/Mono Crytal line silicon ingot/solar Cells/Solar Cells Module,Fujing Smelt Metal ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น,Datian Talant Home Deco (Thai)ผลิตภัณฑ์จากเทียน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น