เฮรัลด์ ทริบูน –ความกระหายอ่านหนังสือ และการปิดโรงงานผลิตกระดาษรายย่อย ซึ่งก่อมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนฉับพลันในตลาดกระดาษของจีน และแฟน ๆ ชาวจีน ต้องซื้อแฮร์รี่ พ็อตเต้อร์ ตอนเครื่องรางยมทูต(the Deathly Hallow ) ซึ่งเป็นภาคล่าสุดในราคาแพงลิ่ว รวมไปถึงนิยายเล่มล่าสุดของแดน บราวน์ และวรรณกรรมคลาสสิกของจีน
ราคากระดาษจนถึงปัจจุบันในปีนี้ ในจีนปรับขึ้นอีกร้อยละ 10 โรงพิมพ์ต้องเลื่อนการพิมพ์หนังสือ และสำนักพิมพ์ขึ้นราคาหนังสือ แม้จนถึงขณะนี้ ปัญหายังจำกัดขอบเขตอยู่ในจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หากไม่คอยติดตามแนวโน้มที่เกิดขึ้น สำนักพิมพ์ทั่วโลกก็อาจต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น และผู้บริโภคต้องซื้อหนังสือแพงกว่าเดิม
แฮร์รี่พ็อตเต้อร์ฉบับแปลภาคล่าสุดขายในจีนเล่มละ 66 หยวน หรือ 9 ดอลลาร์ แพงกว่าเล่มก่อน 2 เท่า ขณะที่ชาวจีนในหลายเมืองยังคงมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึงเดือนละ 1,200 หยวน
หลี่เจี๋ย นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 21 ปี เห็นว่า ถ้าต้องการซื้อแฮร์รี่พ็อตเต้อร์เก็บไว้ทุกตอน เล่มหนึ่งถือว่ามีราคาแพงเกินไป โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนนักศึกษา ขณะที่นิยายคลาสสิกของจีนเรื่อง บ้าน ( เจีย/Family) เล่มละ 40 หยวน สูงกว่าที่หลี่อิงบรรณาธิการและนักเขียนประจำสถานีโทรทัศน์ เตรียมควักกระเป๋าเกือบ 2 เท่า ส่วนพีเพิ้ลส์ ลิตเทอเรเช่อร์ พับลิชชิ่งเฮ้าส์ ขึ้นราคาหนังสือนิยายของแดน บราวน์อีกร้อยละ 20 ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน
จีนมีบทบาทสำคัญในตลาดหนังสือนานาชาติอย่างมาก และเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์รายใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือ โดยข้อมูลของรัฐบาลจีนระบุว่า จีนส่งออกกระดาษสูงถึงร้อยละ 76 ระหว่างปี 2548-2549 และคาดว่า การส่งออกจะยังคงมีปริมาณสูงในสิ้นทศวรรษนี้
บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา ไพร่า อินเตอร์เนชั่นแนล (Pira International) ซึ่งคร่ำหวอดด้านธุรกิจกระดาษและการพิมพ์ ชี้ว่า สำนักพิมพ์ในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังหันไปให้โรงพิมพ์ในจีนพิมพ์หนังสือ ซึ่งลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ด้วยแนวโน้มดังกล่าว ปัจจุบัน จึงเห็นบริษัทการพิมพ์ของจีนหลายรายปรากฏตัวในงานมหกรรมหนังสือโลกต่าง ๆ เช่นงานมหกรรมหนังสือที่แฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งรวมสำนักพิมพ์จากทั่วโลกมากที่สุดงานหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความต้องการกระดาษของจีนจากทั้งในและนอกประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจีนก็กำลังสั่งปิดโรงผลิตกระดาษขนาดเล็กหลายแห่ง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนกระดาษในจีน และทำให้ราคากระดาษทั่วโลกแพงตามมา
ลิซ อัลเลน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตสำนักพิมพ์ เพนกวินยูเค ของอังกฤษ ซึ่งจัดสรรงบประมาณผลิตในจีนประมาณร้อยะละ 60 ระบุว่าการประหยัดต้นทุนการพิมพ์ ทำให้สำนักพิมพ์ไม่ต้องขึ้นราคาหนังสือสำหรับในตอนนี้ โดยแม้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบในท้ายที่สุด แต่เนื่องจากเพนกวินผลิตหนังสือปริมาณมหาศาล และมีฐานป้อนการผลิตขนาดใหญ่ในจีน จึงช่วยลดทอนผลกระทบด้านนี้ไปได้บ้าง
ทั้งนี้ การผลิตกระดาษในจีนใช้ฟางข้าวและกากพืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ จึงก่อมลพิษสูง แตกต่างจากเยื่อไม้ ซึ่งซีกโลกตะวันตกใช้กัน
โรงผลิตกระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและระบบปฏิบัติการไม่มีประสิทธิภาพ มีส่วนปล่อยน้ำเสีย คิดเป็นร้อยละ 17 ของการปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมทั้งหมดในจีนเมื่อปี 2548 ดังนั้น รัฐบาลจึงสั่งปิดโรงผลิตกระดาษขนาดเล็กหลายร้อยแห่ง และตั้งเป้าปิดอีกหลายร้อยแห่งในระหว่างปี 2549-2553 โดยรัฐบาลยังกำลังบีบให้โรงงานกระดาษ ที่กระจัดกระจายรายย่อย ๆ รวมเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และพัฒนาการกระบวนการผลิตให้ทันสมัย โดยนำเยื่อไม้มาใช้แทน การปรับโครงสร้างการผลิตกระดาษ ส่งผลให้เกิดความต้องการเยื่อไม้อย่างมาก ซึ่งจีนต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ผลก็คือราคาเยื่อไม้พลอยถีบตัวสูงขึ้นไปด้วย ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนกระดาษ จึงทำให้บรรดาสำนักพิมพ์จีนจำเป็นต้องขึ้นราคาหนังสืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้