xs
xsm
sm
md
lg

“การสังหารหมู่ที่นานกิง” ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์


วันที่ 13 ธันวาคม 1937 กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพเข้าบุกยึดนานกิง (หนันจิง) เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น หลังจากนั้นเรื่องราวต่างๆช่วง 6 สัปดาห์ของโศกนาฏกรรมเลือดครั้งประวัติศาสตร์นาม “การสังหารหมู่ที่หนันจิง” ซึ่งทหารญี่ปุ่นทำการข่มขืน และสังหารชาวจีนด้วยวิธีการต่างๆ จนมีชาวจีนถูกฆ่าและจับเป็นเชลยมากกว่า 300,000 คน ก็ถูกเล่าขานเป็นประวัติศาสตร์ที่ก่อความแค้น ความเศร้า และความบาดหมางบนความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจนยากลืมเลือน

หากนำ “การสังหารหมู่ที่หนันจิง” มาเป็นหน่วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน จะพบข้อน่าสนใจว่า ทั้งสองชาติล้วนมี “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิด “กระแสชาตินิยม” จนนำไปสู่ความบาดหมางที่ไม่รู้จักจบสิ้น

เมื่อความขัดแย้งระหว่างจีน-ญี่ปุ่นอุบัติขี้นแต่ละครั้ง ฝ่ายจีนมักมีการอ้างเรื่องหนี้ประวัติศาสตร์ “การสังหารหมู่ที่หนันจิง” ส่วนญี่ปุ่นก็จะอ้างว่าจีนโกหกบิดเบือนเรื่องหนันจิงจนดูโหดร้ายเกินจริง ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า สาเหตุความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นไม่จางซะที ก็มีส่วนมาจากทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวคือ ญี่ปุ่นเองก็มักเขียนแก้ประวัติศาสตร์ช่วงหนันจิง โดยพยายามลบเลือนภาพความโหดร้ายช่วงนั้น ขณะที่ฝ่ายจีนก็ตื้อไม่เลิก อ้างหนี้ประวัติศาสตร์ ย้ำความโหดร้ายที่ญี่ปุ่นได้ทำไว้กับจีน แม้ฝ่ายญี่ปุ่นจะออกมาขอโทษหลายครั้งก็ตาม

ทำไมเรื่องจึงไม่จบ?

สาเหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ต่อความยาวสาวความยืดมาถึง 70 ปี ก็เพราะว่า “เหตุการณ์ที่หนันจิง” มีบทบาทสำคัญต่อ “การสร้างชาติ” จีนและญี่ปุ่น เนื่องจากสังคมจีนในปัจจุบันมีพลวัต (dynamic) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การกร่อนสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ จากเดิมที่จีนเป็นสังคมนิยมสุดขั้วสมัยเหมาเจ๋อตง แต่ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจที่หยิบยืมแนวทางทุนนิยมมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาว่า “อุดมการณ์คอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นแก่นยึดถือของสังคมมานานนั้นเริ่มสั่นคลอนเสียแล้ว เพราะคอมมิวนิสต์ดันรับแนวคิดขั้วตรงข้าม ที่ตัวเองเคยประฌามอย่างสุดจิตสุดใจมาใช้ ฉะนั้นเพื่อหาแก่นของสังคมอันใหม่ “ชาตินิยมจีน” จึงถูกสร้างและเร่งเร้าให้มีความเข้มข้น ผ่านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ที่เน้นปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยม และการสร้างภาพของความเป็นอื่น (otherness) ด้วยการสร้างภาพคู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นจีนที่ศิวิไลซ์ กับ ชนต่างชาติที่ป่าเถื่อน โหดร้าย และไร้เหตุผล เช่นที่จีนเน้นภาพดังกล่าวให้กับญี่ปุ่นจากเหตุการณ์ช่วงหนันจิง

ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้อง แก้ไข บิดเบือนและปฏิเสธการกระทำของบรรพบุรุษตนเองที่หนันจิง ก็เพราะญี่ปุ่นในปัจจุบันก้าวมาจาก “จักรพรรดินิยม” ผสม “ความคลั่งชาติ” เป็น “ทุนนิยม” ปน “ชาตินิยม”1 โดยมีลัทธิทหารเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ฉะนั้นการประฌาม ละทิ้งลัทธิทหาร ผ่านการยอมรับความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นได้กระทำที่หนันจิง จึงเท่ากับเป็นการสละทิ้งซึ่งความทรงจำร่วมกัน ที่เอื้อให้ชาติญี่ปุ่นเกิดขึ้นและดำรงอยู่ หากญี่ปุ่นต้องการสืบสานเรื่องราวความภูมิใจในชาติตนต่อไป การประฌามบรรพบุรุษ กองทัพ และทหารกล้า จึงเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่สามารถกระทำได้ เพราะเท่ากับเป็นการสละทิ้งซึ่งแก่นความคิดที่รวมชาวญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน

การเปลี่ยนความคิดเลิกเป็นเจ้าของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ชุดหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีของญี่ปุ่นนั้น มิใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ชวนเจ็บปวดและทำให้สิ่งอื่นๆอีกหลายอย่างที่รัฐชาติให้ความสำคัญเอาไว้อาจล่มสลายไปด้วย แม้ว่าชาติจะยังอยู่ แต่อีกหลายอย่างที่เคยอยู่เคียงคู่กับชาติอาจไปไม่รอด2

หากนำมาเทียบกับไทยคิดง่ายๆว่า หลังจากที่มีนักวิชาการจำนวนมาก อาทิ ทรงยศ แววหงส์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ออกมาวิพากษ์ประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า เป็นเรื่องที่ถูกแต่งแต้มสร้างขึ้นไม่นานในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง ทว่าชาวไทยจำนวนมาก ก็มิสามารถสละทิ้งซึ่งความทรงจำชุดเดิม ที่เราเชิดชูพระนเรศวรมหาราช พร้อมทั้งท่องจำเรื่องราววีรกรรมของพระองค์อย่างแม่นยำ เพราะการลืมเลือนประวัติศาสตร์ดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในชาติไทยปัจจุบัน รวมทั้งตัวตนของเรา

ฉะนั้นจึงจำต้องทำความเข้าใจ เข้าถึงความคิด ตัวตนของคนญี่ปุ่น-จีน และตัวเราเองก่อนที่จะประฌามหยามเหยียดญี่ปุ่น-จีน ว่า “ทำไมเถียงกันไม่จบซะที”

ย้อนดูกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์จีน

สำหรับฝ่ายจีนเองนั้น ก็มีการแก้ไข และบิดเบือนประวัติศาสตร์ของตนที่ทำกับชาติอื่น โดยจีนมักมองข้ามประวัติศาสตร์ความรุนแรง ที่ตนทำไว้กับเพื่อนบ้าน อาทิสงครามข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียปีค.ศ. 1962 และการบุกรุกเวียดนามปีค.ศ. 19793 นอกจากนี้ในปี 2005 จีนยังถูกเกาหลีใต้ประท้วงเรื่องพยายามเขียนประวัติศาสตร์ อ้างสิทธิเหนือประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอาณาจักรโบราณของเกาหลีว่า เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน จนชาวเกาหลีใต้รับไม่ได้ ถึงกับหลุดปากพูดถึงภัยจักรวรรดินิยมจีนใหม่4

การแก้ไขประวัติศาสตร์ของจีนนั้นสามารถสืบสาวย้อนได้ไปถึงยุคราชวงศ์ เพราะเมื่อสิ้นยุคราชวงศ์เดิมราชวงศ์ใหม่ที่ขึ้นมาปกครองจีน (บางครั้งก็เป็นชนต่างชาติ) ก็พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ รื้อทิ้งทำลายความชอบธรรมของราชวงศ์เดิม จนเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องอาณัติแห่งสวรรค์ (เทียนมิ่ง) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า "สวรรค์" เป็นสิ่งสูงสุดมีโองการเหนือสรรพสิ่งบนโลกมนุษย์รวมทั้งสกลจักรวาล การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของกษัตริย์จึงขึ้นอยู่กับ "สวรรค์" เพราะกษัตริย์เป็นเพียงตัวแทนที่ถูกเลือกขึ้นมาโดย "สวรรค์"

ดังนั้น หาก "สวรรค์" เห็นว่ากษัตริย์มิได้ทำหน้าที่กษัตริย์ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน "สวรรค์" ก็จะเป็นผู้ถอนอาณัติ และให้อาณัติกับคนใหม่เพื่อมาเป็นตัวแทนต่อ เมื่อแนวความคิดเกี่ยวกับ "สวรรค์" มีความชัดเจนมากขึ้น กษัตริย์หรือตัวแทน "สวรรค์" จึงอ้างความชอบธรรมว่าตนคือ "โอรสแห่งสวรรค์" (เทียนจื่อ) ไปด้วย5

แนวคิดเรื่อง อาณัติแห่งสวรรค์ เริ่มมีความชัดเจนในสมัยราชวงศ์โจว เนื่องจากโจวอู่หวังปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว เดิมทีมีพื้นเพเป็นเพียงเจ้าเมืองย่อยๆแห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้ก่อการโค่นราชวงศ์ซางสถาปานาราชวงศ์โจวขึ้น6 ฉะนั้นเพื่อให้อำนาจของตนมั่นคงจึงจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้กับราชบัลลังก์ ด้วยการอ้างอาณัติแห่งสวรรค์ กล่าวบรรยายสภาพอันเลวร้ายของซางโจ้ว กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางว่า มิได้ประพฤติตนสมเป็นกษัตริย์จึงถูกถอนอาณัติ7 และบัดนี้สวรรค์ได้มีโองการให้อู่หวังได้รับอาณัติเป็นโอรสแห่งสวรรค์ สถาปนาราชวงศ์โจวแทน

ภายหลังเมื่อระบอบกษัตริย์ถูกแทนที่ด้วยระบอบจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ฉิน ผู้เป็นจักรพรรดิก็ได้รับเอาความเชื่อเรื่อง อาณัติแห่งสวรรค์มาอ้างความชอบธรรมต่ออีกกว่าสองพันปี ยิ่งจีนเป็นสังคมแห่งการจดบันทึกแต่ละราชวงศ์จึงให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติศาสตร์ โดยการบันทึกประวัติศาสตร์มักเป็นงานที่แต่ละราชวงศ์ให้ความสำคัญ เนื่องจากประวัติศาสตร์เองก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง ดังประโยคที่ว่า “ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์”เมื่อเริ่มราชวงศ์ใหม่ การจารึกประวัติศาสตร์ถึงราชวงศ์เดิมในทางเสื่อม ต่างๆนาๆ เพื่ออธิบายว่าสวรรค์ได้ถอนอาณัติจากราชวงศ์เดิม และราชวงศ์ใหม่ได้รับอาณัติจึงเกิดขึ้น8

ฉะนั้นจึงมิต้องแปลกใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ จึงกลายเป็นประเด็นการเมืองที่ไม่จบสิ้น เพราะการเขียนประวัติศาสตร์แต่ละครั้งล้วนเป็นเรื่องการเมือง หากไม่เชื่อว่าการเขียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องการเมือง ภาพสะท้อนจากข่าว “จีน-ญี่ปุ่นจับมือค้นประวัติศาสตร์ หวังความสมานฉันท์” เมื่อปีค.ศ. 2006 ที่นักวิชาการจีน-ญี่ปุ่นตั้งโครงการร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ หลังรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองชาติพูดภาษาดอกไม้ เพื่อฟื้นสัมพันธ์โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นวาระแอบแฝงคงช่วยให้เกิดความกระจ่างได้บ้าง




เอกสารอ้างอิง

[1] กาแฟดำ, “จาก “คอมมิวนิสต์” สู่ “ชาตินิยม”,” กรุงเทพธุรกิจ, 26 เมษายน 2548. 
[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “แก้อดีตคือแก้ปัจจุบัน,” มติชนสุดสัปดาห์, 6 พฤษภาคม 2548, 33.
[3] “Textbook Tensions,”
[http://www.time.com/time/asia/covers/501050425/textbook.html],
5 December 2007.
[4] ประวิตร โรจนพฤกษ์, “จีน (และเกือบทุกชาติ) ก็มีปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์,” กรุงเทพธุรกิจ,
22 เมษายน 2548.
[5] วรศักดิ์ มหัทธโนบล, “คำคิดจีน: สวรรค์,” มติชนสุดสัปดาห์, 20 กรกฎาคม 2550, 68.
[6] เขียน ธีระวิทย์, วิวัฒนาการการปกครองของจีน, พิมพ์ครั้งที่ 3.
(กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 6.
[7] “King Zhou of Shang,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Shang_Zhou], 20 October 2007.
[8] Julia Lovell, The Great Wall: China Against the World 1000 BC- AD 2000
(London : Atlantic Books, 2006), 117-118.
กำลังโหลดความคิดเห็น