ไชน่าเดลี่-สายการบิน เซี่ยงไฮ้ แอร์ไลนส์ สายการบินระดับภูมิภาคของจีน จะเข้าเป็นสมาชิกของ สตาร์ อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลและเร่งยกระดับมาตรฐานการจัดการและบริการของสายการบินฯให้ทัดเทียมระดับโลก โจวฉือ ประธานเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลนส์ กล่าวเมื่อวันอังคาร(4 พ.ย.)
โดยเซี่ยงไฮ แอร์ไลนส์ ซึ่งมีฐานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ จะมีบทบาทเพียงผู้สังเกตการณ์ของสตาร์ อัลไลแอนซ์ เป็นเวลากว่า 1 ปีก่อน และคาดว่าสายการบินฯจะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบพร้อมกับสายการบินแอร์ ไชน่า ซึ่งมีฐานในปักกิ่ง
ปัจจุบัน บริษัทสายการบินจีนรายใหญ่ กำลังแย่งชิงกันเป็นสมาชิกของพันธมิตรสายการบินรายใหญ่สุดของโลก ซึ่งมีอยู่ 3 ราย คือ สตาร์ อัลไลแอนซ์,สกาย ทีม และวันเวิล์ด เพื่อเพิ่มแรงแข่งขันในตลาดการบินโลก สายการบินไชน่า เซ้านท์เทิร์น แอร์ไลนส์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของกลุ่มสกายทีม เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นับสายการบินแรกของจีนที่เข้าร่วมพันธมิตรสายการบินระดับโลก
โจวกล่าวว่าสตาร์ อัลไลแอนซ์ เลือกเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลนส์ และแอร์ ไชน่าเนื่องจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง เป็นประตูหลักสู่จีนแผ่นดินใหญ่ และเซี่ยงไฮ้เป็น 1 ใน 3 ศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดในจีน ขณะที่สายการบินทุกแห่งต่างเล็งเซี่ยงไฮ้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคต
ปัจจุบัน สายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ ครองส่วนแบ่งตลาดการบินในเซี่ยงไฮ้สูงสุดถึง 35% ถัดมาคือสายการบินเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลนส์ 18% และ แอร์ ไชน่า 12 %
ด้านฟานหงซี ประธานเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลนส์กล่าวว่า ขณะนี้สายการบินยังไม่มีแผนร่วมทีมกับบริษัทการบินทั้งในและต่างประเทศ แม้คู่แข่งสำคัญอย่าง ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ และแอร์ ไชน่า จะจับมือกับคู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ต่างชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯมีแผนเพิ่มฝูงบินเป็น 100 ลำในปี 2010 และได้รับไฟเขียวจากผู้คุมกฎให้เปิดเส้นทางการบินไปยังมลรัฐซีแอตเติล ของสหรัฐฯ และฮัมบูร์ก เมืองใหญ่อันดับสองของเยอรมนี
สตาร์อัลไลแอนซ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2540 โดยมีสายการบินก่อตั้ง 5 สายการบินคือ แอร์แคนาดา,ลุฟต์ฮันซา,ยูไนเต็ดแอร์ไลน์,สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็ม และ การบินไทย ปัจจุบันมีสายการบินเข้าร่วมจำนวน 18 สายการบิน และกำลังจะเข้าร่วมเพิ่มอีก 3 สายการบิน และสายการบินท้องถิ่นอีก 3 สายการบิน
โดยจะมีความร่วมมือระหว่างสายการบินคือ ผู้เดินทางเปลี่ยนเครื่องจะได้รับความสะดวกมากขึ้น สามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวตลอดเส้นทางได้,สามารถนำแต้มสะสมที่ได้จากสายการบินในเครือข่ายไปสะสมหรือใช้แต้มกับรายการสะสมแต้มของสายการบินอื่นๆในเครือข่ายได้ และผู้ใช้บริการในชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งของสายการบินในเครือข่ายสามารถใช้บริการห้องรับรองของสายการบินอื่นๆในเครือข่ายได้.