เมื่อวันจันทร์ (3 ธ.ค.) ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป วิสาหกิจแดนมังกรซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของโลก เปิดตัวทำไอพีโอ หุ้นกระดานเอ ณ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ โดยมูลค่าหุ้นไชน่า เรลเวย์ พุ่งถึง 69% ดันความเชื่อมั่นนักลงทุนพุ่งตาม หลังตลาดหุ้นผันผวนมานาน นักวิเคราะห์ชี้รัฐบาลอยู่เบื้องหลัง พร้อมแนะกำลังเกิดปรากฎการณ์ “อนุวัตรหุ้นกระดานเอ” (A-sharization)
หลังตลาดหุ้นจีนผันผวนมานาน วิสาหกิจยักษ์แดนมังกร ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป ทำเรื่องหวาดเสียว เปิดตัวทำไอพีโอหุ้นกระดานเอ ระดมทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมประกาศทำไอพีโอคู่ขนาน เปิดตัวระดมทุน 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในตลาดกระดานเอชที่ฮ่องกงอีกในวันศุกร์ (7 ธ.ค.)
อย่างไรก็ตาม ผลการทำไอพีโอเมื่อวันจันทร์ ทำให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้กลับมาคึกคัก โดยมูลค่าหุ้นไชน่า เรลเวย์พุ่ง 69% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ไม่มากนัก ส่งผลให้ความกังวลเรื่องตลาดหุ้นเฟื่องฟูไร้เหตุผล จากผลการซื้อขายราคาหุ้นที่สูงเกินจริงลดลง
“เมื่อเทียบกับหุ้นไอพีโอตัวอื่นที่มูลค่าเปิดตลาดวันแรกมักพุ่งเกินกว่าที่คาดไว้ 30-50% ไชน่า เรลเวย์นับว่าเปิดตัวได้อย่างสมเหตุสมผล เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเปิดตัวหุ้นไอพีโอจากบริษัทรายใหญ่อื่นๆ ต่อไปนี้มูลค่าหุ้นไชน่า เรลเวย์อาจจะค่อยขยับขึ้นช้าๆ แต่เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มั่นคง”โจวหลิน จากบริษัทหลักทรัพย์เซเคียวริตี้กล่าว
ทั้งนี้ไชน่า เรลเวย์ ตั้งมูลค่าหุ้นไว้ที่ 4.8 หยวน เมื่อปิดตลาดมูลค่าหุ้นบริษัทฯปิดตัวที่ 8.09 หยวน ทำให้ไชน่า เรลเวย์ฟันกำไรไปเกือบ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า ในการเปิดตัววันแรกไชน่า เรลเวย์อาจฟันกำไรอยู่ระหว่าง 50-80% โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันจันทร์ปิดตัวลดลงเล็กน้อย 0.07% ที่ 4868.61 จุด
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยต่างพอใจกับการเปิดตัวไอพีโอของไชน่า เรลเวย์ โดยหุ้นของไชน่า เรลเวย์มียอดการจองซื้อสูงถึง 457,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “หุ้นตัวใหม่เปรียบเสมือนล็อตเตอรี่ที่ซื้อแล้วมีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ การซื้อหุ้นครั้งนี้ช่วยให้กระเป๋าเงินของเราฟื้น หลังขาดทุนไปจำนวนหนึ่ง” อู๋ไหลตี้ นักลงทุนผู้ลงเงินไปกับไชน่า เรลเวย์จำนวน 1,000 หุ้นกล่าว
ไชน่า เรลเวย์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่ผูกขาดโครงการก่อสร้างทางรถไฟของรัฐ และยังมีโครงการรับเหมาอีกกว่า 230 โครงการใน 55 ประเทศ ด้านปักกิ่งเองยังมีโครงการลงทุนด้านรถไฟระหว่างปี 2006-2010 เป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านหยวน เท่ากับเป็นเครื่องการันตีอนาคตของไชน่า เรลเวย์ว่าไม่มีวันจม
ฉะนั้นท่ามกลางภาวะผันผวนของตลาดหุ้น ที่ฉุดความมั่นใจของนักลงทุนแทบไม่เหลือ การเข้าทำไอพีโอของวิสาหกิจยักษ์ที่มีความมั่นคงสูง จึงเป็นการกู้ชีพพลิกฟื้นความมั่นใจต่อตลาดหุ้นอย่างได้ผล เพราะการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านจิตใจมีอิทธิพลสูงมาก ต่อกลไกการทำงานของตลาดหุ้นช่วงผันผวน
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังได้ชี้ถึงปรากฏารณ์ที่เรียกว่า “ปรากฎการณ์อนุวัตรหุ้นกระดานเอ” โดยสังเกตจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่แดนมังกร ต่างแห่ไประดมทุนในหุ้นกระดานเอ ที่ทำการซื้อขายในเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น และต้องใช้สกุลเงินหยวน ทำการซื้อขายเท่านั้น โดยผู้ที่มีสิทธิซื้อขายมีเพียง ผู้ที่อาศัยในจีน และ QFIIS (Qualified Foreign Institutional Investors) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด QFIIS ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนรายชื่อโดยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏการณ์แห่ระดมทุนหุ้นกระดานเอนี้ ต่างจากเดิมที่บริษัทใหญ่นิยมระดมทุนในหุ้นกระดานเอชของฮ่องกง
ทั้งนี้สาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว มาจากปัจจัยปัจจุบันที่กระดานเอให้ผลตอบแทนสูงกว่า บรรดาบริษัทจากแผ่นดินใหญ่ และบริษัทที่จดทะเบียนในกระดานเอช จึงต่างจ้องหาโอกาสระดมทุนในตลาดกระดานเอที่เซี่ยงไฮ้แทน แม้แต่หุ้นกลุ่มเรดชิป(บริษัทที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นอยู่จำนวนมากทั้งทางตรง (รัฐวิสาหกิจ) และทางอ้อม (มีอำนาจควบคุม) และมีการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่กับจีนแผ่นดินใหญ่) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ยังวางแผนเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ไประดมทุนในกระดานเอ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจีนยังมีนโยบายกันบริษัทต่างชาติมิให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแผ่นดินใหญ่
หากสังเกตจากสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) หุ้นกระดานเอให้ผลตอบแทนมากกว่า 40 เท่า และในบางกรณีก็ให้ผลตอบแทนเป็นร้อยๆเท่า ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนในกระดานเอช ฉะนั้นบริษัททั้งหลาย แม้แต่ที่จดทะเบียนในกระดานเอชจึงจ้องขยับขาก้าวสู่กระดานเอ
นอกจากนี้ หากพิจารณาเหตุปัจจัยอื่นๆ เราจะเห็นลักษณะการอนุวัตรหุ้นกระดานเอ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยส่วนต่างมูลค่าหุ้นระหว่างกระดานเอชที่ถูกกว่ากระดานเอ ทำให้มีนักแสวงโชคจำนวนมากฉวยโอกาสซื้อหุ้นกระดานเอชของบริษัทที่จดทะเบียนใน 2 ตลาด โดยหวังว่าส่วนต่างราคาหุ้นกระดานเอชจะค่อยๆไล่ทันกระดานเอ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดกระดานเอชมีการปรับสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ
และหากพิจารณาคุณลักษณะของกระดานเอ ที่ค่อนข้างปิดจากโลกภายนอก (บังคับซื้อขายเฉพาะสกุลเงินหยวน ซึ่งรัฐบาลจีนยังมิได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ) ทำให้กระดานเอเต็มไปด้วยนักลงทุนรายย่อย ที่ต้องการเก็งกำไรจากการลงทุนระยะสั้น ซึ่งหากนำภาพดังกล่าวไปเทียบกับกระดานเอชเราจะเห็นแนวโน้ม ที่นักลงทุนรายย่อยหวังเก็งกำไรระยะสั้นในกระดานเอชเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนมีสภาพคล้ายกระดานเอ
นอกจากนี้กระดานเอช ยังเริ่มมีลักษณะหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งแต่เดิมมีเพียงกระดานเอเท่านั้น ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐ อาทิ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พลันที่มีข่าวว่าปักกิ่งวางแผนอนุมัติให้พลเมืองแผ่นดินใหญ่ลงทุนได้โดยตรงในตลาดหุ้นฮ่องกง หั่งเส็งก็กลับมาคึกคักทันทีหลังซบเซามานาน โดยอาทิตย์ต่อมา ดัชนีหั่งเส็งพุ่งทะยานขึ้นถึง 40%
ดูเหมือนว่ากระบวนการอนุวัตรหุ้นกระดานเอนี้ กำลังถูกเร่งรัดให้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อปักกิ่งมีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจ ที่ต้องการทำไอพีโอคู่ขนานให้ทำไอพีโอในตลาดกระดานเอก่อนที่จะเริ่มระดมทุนในตลาดกระดานเอช ฉะนั้นการกำหนดราคาหุ้นไอพีโอในตลาดกระดานเอชจะค่อยๆขยับใกล้กับมูลค่าตลาดกระดานเอมากยิ่งขึ้น และด้วยสภาวการณ์ที่บริษัทจีนเป็นลูกค้าไอพีโอรายใหญ่ของหั่งเส็ง ฮ่องกงจึงต้องรับสภาพการเปลี่ยนแปลงตามปรากฎการณ์อนุวัตรหุ้นกระดานเอ ที่จะทำให้ตลาดกระดานเอชมีสภาพคล้ายคลึงกับกระดานเอมากขึ้น
เมื่อไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป เสร็จสิ้นการทำไอพีโอคู่ขนานที่กระดานเอชในวันศุกร์ (7 ธ.ค.) หลังจากที่วันจันทร์ได้ระดมทุนในกระดานเอไปเรียบร้อยแล้ว เราคงได้เห็นความชัดเจนของปรากฏการณ์อนุวัตรหุ้นกระดานเอ ที่ชัดมากขึ้นจากการกำหนดมูลค่าหุ้นไชน่า เรลเวย์ ในตลาดเอชที่ประมาณ 5.4 หยวน ซึ่งสูงกว่าราคาในกระดานเอเล็กน้อย และหลังจากนี้ยักษ์วิสาหกิจแดนมังกรรายอื่นๆคงทะยอยทำตามไชน่า เรลเวย์ จนหุ้นกระดานเอชมีสภาพไม่ต่างไปจากกระดานเอ
แปลและเรียบเรียงจาก
[1]“China Railway shares soar in Shanghai debut,”
[http://www.iht.com/articles/2007/12/03/business/rail.php?WT.mc_id=rssbusiness], 3 December 2007.
[2]Wu Zhong, “China Railway signals Hong Kong direction,”
[http://www.atimes.com/atimes/China_Business/IK28Cb01.html],
3 December 2007.
[3]“Chinese firms test appetite for IPOs,” Asian Wall Street Journal,
3 October 2007, 1-2.