xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ธุรกิจใหม่เครือซี.พี!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - รู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งกับ กำหนดการที่อาศรมสยาม-จีนวิทยา ร่วมกับ บมจ.ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ได้เชิญผู้สื่อข่าววิทยุ และหนังสือพิมพ์ หลายฉบับ ไปท่องหังโจว-ซูโจว แดนสวรรค์และวัฒนธรรมบนแผ่นดินจีน ระหว่างวันที่ 11-15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพราะเมื่อพลิกดูโปรแกรมตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย ทำให้รู้สึกได้ว่าการร่วมเดินทางครั้งนี้เสมือนหนึ่งเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อนประจำปีเท่านั้น

เนื่องเพราะจุดที่ไปล้วนแต่มีชื่อเสียงที่ชวนให้ไปสัมผัส “หังโจว” โดดเด่นในเรื่องของความงดงามด้วยธรรมชาติ ทั้งภูเขา ทะเลสาบ ต้นไม้และสวน จนมีการเปรียบเปรยงามของเมืองหัวโจวว่า
“บนฟ้ามีสวรรค์ บนดินมีหังโจว”

ส่วนซูโจว ก็มีความงามไม่น้อยกว่าเมืองหังโจว และเป็นต้นแบบการจัดสวนของประเทศจีน และยังมีคลองน้อยใหญ่ ต่าง ๆ ตัดผ่าน อีกทั้งยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 2,500 ปี โดยเฉพาะหมู่บ้านพันปีโจวจวง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทัวร์ท่องเที่ยวทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติต่างไม่พลาดที่จะต้องไปเยี่ยมชม

แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรวิชาด้าน “จีนศึกษา” เช่นที่ คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “นิด้า” ก็ได้เลือก “หังโจว-ซูโจ-เซียงไฮ้” เป็นหนึ่งแหล่งของการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเจริญที่มีวิวัฒนาการและผสมผสานความเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ หรือ “สังคมนิยมแบบจีน”ที่ควรค่าแก่การศึกษา

ขณะที่เมืองเซียงไฮ้ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าตั้งแต่ปี ค.ศ.960 ปัจจุบันเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดของประเทศจีน และยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม ซึ่งหลังสงครามฝิ่นในปี ค.ศ.1848 ชาวต่างชาติได้เข้ามาเช่าพื้นที่หลายแห่ง ขณะที่จีนต้องเปิดท่าเซียงไฮ้ให้ต่างชาติเข้าเทียบจนกลายเป็นเมืองท่านานาชาติที่มีความสำคัญนับแต่นั้นมา และยังมีอาคารที่เป็นมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมแบบ ฝรั่งเศส ที่ได้รับการขนานนามว่า “นครปารีสแห่งตะวันออก” ในยุคสมัยก่อนไว้ให้ดูจนตราบทุกวันนี้

ดังนั้นจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าการจัดทริปครั้งนี้เจ้าของหน่วยงานจะได้อะไรเป็นการตอบแทน เพราะตามโปรมแกรมนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการไปดูงาน การขยายโรงงาน หรือการเปิดกิจการใหม่ที่เครือซีพีแม้แต่อย่างเดียว

ต่อเมื่อได้ร่วมเดินทางและศึกษาแต่ละแหล่งตามโปรแกรมที่เจ้าของโครงการจัดมาให้นั้นจึงเริ่มมีคำตอบในใจ และนำไปสู่บทสรุปที่ว่า อาศรมสยาม-จีนวิทยาและบมจ.ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นนักยุทธศาสตร์ที่น่าเฝ้าติดตาม

เพราะเชื่อว่าโครงการนี้มิใช่มุ่งหวังในเรื่องกิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า CSR (Corporate Social Responsibility) เท่านั้น

ทั้งนี้เพราะ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” เป็นส่วนงานหนึ่งของสมาคมปัญญาภิวัตน์ บริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ได้ถือกำเนิดมาเมื่อปี 2544 ด้วยวัตถุประสงค์ ที่ต้องการให้เป็นแหล่งจีนศึกษาในไทย โดยใช้เป็นศูนย์กลางพบปะ ผู้รู้และใฝ่รู้ศาสตร์ทางด้านจีนวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับแหล่งอารยธรรมที่หมายรวมถึง ศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อักษรศาสตร์ และภูมิปัญญาโลกตะวันออกในด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อโลกวัฒนธรรม ที่มีแหล่งต้นน้ำในจีนแผ่นดินใหญ่ ดังข้อสรุปที่ สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)ได้ระบุไว้

โครงการท่อง “หังโจว-ซูโจว แดนสวรรค์และวัฒนธรรมบนแผ่นดินจีน“ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” จัดทริปพาผู้สื่อข่าวไปทัวร์เมืองจีน โดยครั้งแรกเป็นการ “ตามรอยสามก๊กพร้อมกับชมมรดกโลก” ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน

ขณะเดียวกัน“อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ยังมีผลงานปรากฎและน่าติดตามอย่างยิ่งที่พรั่งพร้อมด้วยเนื้อหาสาระ เช่น จดหมายข่าวที่มีอย่างน้อยเดือนละ 2 ฉบับ ซึ่งฉบับหนึ่งเป็นเรื่องภาษาและไวยากรณ์ อีกฉบับเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ยกตัวอย่างฉบับเดือน พฤศจิกายนและธันวาคม ปี2549 ที่ผ่านมา ผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศจีน ก็น่าจะไปติดตามหาอ่านได้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่นี่

นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมเป็นพ๊อกเกตบุ๊คชื่อ “พลิกม่านไม้ไผ่” และยังมีการจัดเสวนาร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกทั้งการบรรยายในหัวข้อสำคัญๆ จาก ผู้รู้จริงในเรื่องจีนวิทยา รวมถึงการบรรยาย ของ ผศ.ถาวร สิกขโกศล ที่ปรึกษาอาศรมสยาม-จีนวิทยาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยด้วย

และยังมีเว็ปเซต์ให้ผู้สนใจเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ www.all-chinese.com/siamsinology

อย่างไรก็ดีหากจะถามคนจีนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ในประเทศจีนถึงบริษัทคนไทยที่เข้ามาลงทุนในจีนแล้ว ทุกคนจะรู้จักยักษ์ใหญ่อันดับแรกที่ชื่อ “เจียไต๋” หรือ “เจิ้นต้า” ตามสำเนียงจีนกลาง กระทั่งเป็นชื่อ“ซีพี” ในปัจจุบัน

“คนจีนจำนวนมาก มีความไฝ่ฝันอยากทำงานบริษัทซีพี เพราะเป็นยักษ์ใหญ่มีกิจการมากในเมืองจีนทั้งเรื่องเกษตรและอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซด์ ที่เมืองกว่างสี คนที่จบปริญญาตรีก็ตั้งใจแข่งขันเข้าที่นี่กัน” ไกด์หนุ่มชาวกว่างสีที่เคยร่วมทริปไปกับผู้เขียนให้ความเห็น

ขณะที่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในจีน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ บิ๊กบอสแห่งซีพี คือผู้ทรงอิทธิพลคนสำคัญที่จีนให้การยอมรับ และหลายครั้งหลายคราได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เข้าไปมีส่วนในการระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาประเทศจีน “จีนเองให้ความสำคัญกับวอลล์มาร์ทว่าเป็นที่หนึ่งด้านค้าปลีก แต่ถ้าเรื่องอาหารสัตว์ เรื่องเลี้ยงไก่ เรื่องเลี้ยงกุ้งจีนก็เลือกเราเป็นอันอับหนึ่ง”ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวไว้ในคัมภีร์เจ้าสัวธนินท์ พร้อมกับย้ำถึงวิสัยทัศน์ไว้ด้วยว่า

“ได้ศึกษาค้นคว้าความเป็นจริงของโลกที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกต้องเริ่มจากภาคการเกษตร ก่อนแล้วจริงเปลี่ยนเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ธุรกิจท่องเที่ยวก็จัดอยู่ในภาคบริการ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีปล่องไฟ เงินจากการท่องเที่ยวจะไหลเข้าโดยไม่ต้องทำการผลิตเครื่องจักร และสถาบันการศึกษา ต่างตื่นตัวในการเรียนการสอนวิชาเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ภาคบริการเจริญตามลำดับ”

ส่วนนโยบาย การลงทุนของ ซี.พี.นั้น จะไม่จำกัดว่าจะลงทุนธุรกิจใด ขอให้เป็นธุรกิจที่มีอนาคต ก็จะไปลงทุน และถ้าไม่มีความชำนาญก็จะหาพันธมิตรที่ดีต่อไป อีกทั้งต้องรู้เงื่อนไขสำคัญ 5 ข้อก่อนไปลงทุนจึงจะประสบความสำเร็จในจีน

ขณะที่ สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในจีนควรจะเข้าถึงแก่นแท้ของวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของจีนเพื่อจะทำให้เราเข้าใจถึงวิธีคิดและความเป็นอยู่ที่แท้จริง

“จะมาทำการค้าในจีนควรจะรู้อะไรบ้าง เมื่อเราศึกษาจีน จะเห็นว่าเขาเน้นการบันทึกเป็นหลัก จากบันทึกก็จะทำให้เรารู้ว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ และต้องรู้ ต้องเข้าใจกฎหมายของจีนให้แม่นยำ”

ด้านประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้จัดการอาศรมสยาม-จีนวิทยา กล่าวว่า จีนผ่านการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัยซึ่งมีหลักฐานที่สืบทอดมาทางวัฒนธรรมปรากฎให้เห็น เช่นเทศกาลเชงเม้ง ที่คนจีนไปไหว้บรรพบรุษนั้น ของเท็จจริงก็คือการแสดงความกตัญญูซึ่งเป็นหลักการสอนที่คนจีนยึดถือมาตลอด

ที่สำคัญคือมนุษย์ควรมี 3 อมตะ คือ 1 คุณธรรม อมตะซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถกระทำได้ 2.ผลงานอมตะ ปรากฎให้เห็นจากงานเขียน ภาพเขียนหรือวรรณกรรมอมตะนั่นเอง และ3 วาจาอมตะ ซึ่งเป็นคำสั่งสอนที่ยึดถือกันตลอดมา

“จีนกับไทยมีความสัมพันธ์กันยาวนานทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม ถึงวันนี้จีนผ่านการสวิงมาหลายขั้ว การมาครั้งนี้ได้เรียนรู้วิธีคิดและวิธีการจัดการบริหารที่อยู่ท่ามกลางสังคมนิยมและทุนนิยมควบคู่กันไป และสามารถยิ่งใหญ่ได้ในขณะที่วัฒนธรรมดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่”

ขณะที่ผศ.ถาวร สิกขโกศล ที่ปรึกษาอาศรมสยาม-จีนวิทยาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ระบุว่า หากจะมองด้านการค้าแล้วจะเห็นว่าจีนมีความฉลาดมากจะสอดแทรกการค้าซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลไปในทุก ๆ เมืองหรือทุกเส้นทางท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศได้ง่าย

“ที่หังโจว ก็มีสวนชาหลงจิ่ง โรงงานผ้าไหม ชาแก๊กฮวย ที่เมืองซูโจว ที่เซียงไฮ้ มีโรงงานไข่มุก และยังมีกิจการสมุนไพร โรงงานบัวหิมะ ซึ่งทุกสถานที่ผู้ที่เดินทางมาครั้งแรกจะซื้อสินค้ากลับไปเสมอ”

ในด้านวัฒนธรรม จะเห็นความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 2,500 ปี โดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมชมเมืองจำลองราชวงศ์ซ่งที่เมืองหัวโจว จัดสร้าง เมื่อปี ค.ศ.1999 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2001 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 60ล้านหยวน

โดยบริเวณเมืองจำลองฯนั้นจะมีการตกแต่งคล้าย ๆ เมืองโบราณบ้านเราเพียงแต่ว่าเป็นการแสดงถึงวิถีชีวิตของคนสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตทิวทัศน์ริมน้ำ เขตจัตุรัสมังกร เขตจัตุรัสราชวงศ์ซ่ง เขตจัตุรัสเซียนกับศาลาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการแต่งกายที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเช่าชุดในสมัยราชวงศ์ซ่งสวมใส่เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้ รวมไปถึงซุ้มรับประทานอาหารที่มีบรรยาการศแบบโรงเตี้ยมในหนังจีนกำลังภายในที่ฉายอยู่ในบ้านเรา

แต่ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือการแสดงโชว์วัฒนธรรมสมัยซ่ง ที่มีป้ายด้านหน้าเขียนเป็นอักษรจีนไว้ว่า “1วันคืนเท่ากับ 1พันปี”

และแล้ว...โชว์วัฒนธรรมสมัยซ่ง!..ก็ไม่ทำให้ผิดหวังตาม
ที่ Huang wan lei หรือชื่อไทยว่า “สว่าง”ไกด์หนุ่มที่นำทัวร์ได้คุยไว้

“คนจีนภูมิใจกับการแสดงครั้งนี้มาก เพราะได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่มีการใช้เทคนิคชั้นสูงมาจัดสร้างซึ่งไม่แพ้มหาอำนาจอื่น แม้แต่คนต่างชาติที่เข้ามาดูก็จะชื่นชม ซึ่งคนจีนฟังแล้วก็ภูมิใจ”

โชว์ครั้งนี้เป็นการเล่าเรื่องตั้งแต่ยุคโบราณตั้งแต่ที่เป็นชนเผ่าไป่เย่ว์ที่พูดภาษาตระกูลไทโดยยุคนั้นก็เริ่มมีความเจริญแล้ว ในยุคต่อมาก็เริ่มมีชนเผ่าต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและมีการต่อสู้เกิดขึ้น จนเข้าสู่ยุคฮ่องเต้จีนซึ่งความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ พร้อมฉากตำนานรักนางพญางูขาว กระทั่งถึงยุค หังโจวปัจจุบันที่มีความเจริญ ความงามตามธรรมชาติ และแหล่งศิลปวัฒนธรรม เป็นจุดขายสำคัญที่สามารถดึงดูดให้คนจีนและคนต่างชาติมาเที่ยงหังโจวได้

อย่างไรก็ดีโชว์วัฒนธรรมสมัยซ่งนั้น นอกจากจะมีความสวยงามในเรื่องฉากและการแต่งตัวแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นการใช้ เทคโนโลยี่ชั้นสูงที่อลังการที่สุด ทั้งในเรื่องแสง สี และ เสียง โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ระหว่างนางพญางูขาวกับหลวงจีนนั้น เสมือนหนึ่งเรานั่งอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ มีการสร้างฉากให้เห็นการต่อสู้จนแบบข้ามวันข้ามคืนทำให้เกิดแผ่นดินแยก น้ำทะลักสายน้ำกระเซ็นใส่ผู้ชมที่นั่งอยู่ในโรงละครให้เย็นชุ่มฉ่ำตาม ๆ กัน

นอกจากนี้ในฉากของการเคลื่อนพลต่อสู้ทำศึกสงครามกัน ยิ่งทำให้หลาย ๆคนต้องตะลึงเพราะผู้แสดงได้ผุดขึ้นมาตามจุดต่าง ๆที่ผู้ชมนั่งดู และยังมีฉากที่ทหารควบม้าเข้ามาทำศึกสงคราม พร้อมเสียงเทคนิคดังสนั่นหวั่นไหวเหมือนอยู่ในสนามรบจริง ๆ

“โชว์นี้ทำให้คนจีนและเยาวชนจีนภูมิใจมากถึงความยิ่งใหญ่ของชาติเขา” ผศ.ถาวร สิกขโกศล กล่าวและย้ำว่าจีนได้ใช้สถานที่ประวัติศาสตร์ แหล่งวัฒนธรรมและความงามของธรรมชาติเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ดีที่สุด

ดังนั้นการก่อตั้ง “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแหล่งรวมศาสตร์และศิลปที่เกี่ยวข้องกับจีนวิทยาในไทยแล้ว น่าจะมีความหมายหรือโอกาสที่โดดเด่นไปสู่ยุคของการสร้างรายได้หรือธุรกิจแขนงใหม่ให้กับบริษัทในเครือซี.พี.ในอนาคต

และที่นี่จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดทั้งในด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยวที่ไม่มีบริษัท หรือสถาบันการศึกษาใดในเมืองไทยเทียบได้

ถึงเวลานั้นไม่ว่านักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือประชาชนทั่วไป ที่คิดจะติดต่อทำธุรกรรมกับจีนต้องนึกถึง...อาศรมสยาม-จีนวิทยา!






กำลังโหลดความคิดเห็น