xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทโลจิสติกส์ไทยผนึกกำลังเจาะตลาดจีน มั่นใจโอกาสทอง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ -เปิดแผนการรวมตัวผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ 30 รายในนามบริษัท ไทยลอจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ฯ เข้าเจาะตลาดโลจิสติกส์มังกร เจาะจุดแข็งบริษัทโลจิสติกส์จีนที่ทำให้จีนได้เปรียบไทยเกือบทุกประตู พร้อมชึ้ช่องได้เปรียบผู้ประกอบการไทย เน้นเป็นตัวกลางส่งกระจายสินค้าจีนสู่ภูมิภาค

ข่าวการรวมตัวของบรรดาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 30 ราย ในการร่วมจัดตั้งบริษัท ไทยลอจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ จำกัด (ทีแอลเอ) นับเป็นการรวมตัวของบริษัทเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ของภาคเอกชนไทยที่ใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ซึ่งน่าจับตามาก โดยเฉพาะในการรวมตัวกันเพื่อไปเจาะตลาดจีน ตลาดที่ถนนทุกสายในโลกเวลานี้ต่างก็มุ่งหน้าสู่จีน...

จับมือ 30 บริษัทสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ไทย

ชุมพล สายเชื้อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยลอจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า การรวมตัวของบริษัทโลจิสติกส์ต่างๆ เกิดขึ้นหลังจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ความเป็นเลิศทางโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ในการจัดหลักสูตรการพัฒนาเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ขึ้น โดยเน้นเนื้อหาและรูปแบบการอบรมแบบคลัสเตอร์ โดยได้มีการรับสมัครผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ซึ่งสนใจเข้าร่วมอบรมมากถึง 200 กว่าราย และมีการคัดกรองเหลือ 45 ราย

หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ให้ความรู้ที่จะเห็นประโยชน์ของการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ และพอจบหลักสูตร มี 30 บริษัทที่มีความเห็นตรงกันว่าน่าจะมีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ในการทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์ร่วมกันขึ้นมา เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนาจการต่อรอง รวมถึงการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติที่รุกเข้ามาทำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรในประเทศไทย

โดยการรวมตัวของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ 30 รายครั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มบริษัทออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่ง (Transport) 2.กลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้า (Warehouse) และ 3.กลุ่มผู้รับบริหารจัดการขนส่งและผู้รับทำพิธีการทางศุลกากรหรือที่รู้จักกันดีในนามชิปปิ้ง (Fade-Custom Broker) เพื่อให้บริการแบบครบวงจร แบบ one stop service

สำหรับตลาดจีน ทางบริษัทไทย โลจิสติกส์ อัลลายด์แอนซ์ ได้เห็นความสำคัญเป็นตลาดอันดับต้นๆ ประเทศหนึ่งที่ทางกลุ่มจะมุ่งไปเจาะตลาด โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทในกลุ่มได้ทำโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับจีนอยู่หลายบริษัท โดยเฉพาะนิ่มซี่เส็ง ผู้ประกอบการรถขนส่งรายใหญ่ทางภาคเหนือของไทย ที่ล่าสุดได้มีการจับมือกับกลุ่มบริษัท จิ่งหง ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จากจีน โดยทุ่มงบลงทุนกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้างคลังสินค้าที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และกำลังจะขยายต่อไปเปิดคลังสินค้าเพิ่มที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ในการรองรับเส้นทาง R3a ที่จะสร้างเสร็จในปลายปีนี้ด้วย

มุ่งกระจายสินค้าให้จีนสู่ภูมิภาค

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยลอจิสติกส์ฯ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มบริษัทฯ ได้แยกการเจาะตลาดโลจิสติกส์จีนออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ตลาดโลจิสติกส์ในไทย และตลาดโลจิสติกส์ในจีน โดยการทำตลาดโลจิสติกส์ในไทยนั้นจะเป็นจุดใหญ่ที่จะเน้น โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนา 5 เหลี่ยมเศรษฐกิจเชื่อมจีน ซึ่งไทยอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมได้ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยปัจจุบันการทำการค้าระหว่างไทย-จีนได้อาศัย 3 เส้นทางหลัก คือ ทางเรือ โดยขนส่งสินค้าจากท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือต่างๆ ของจีน,ทางบก จะมีเส้นทาง R3 ผ่านทางลาว ซึ่งบางส่วนจะมีการขนส่งสินค้าทางรถแล้วค่อยนำสินค้าไปล่องตามแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดผลไม้ ซึ่งไม่ได้ทำได้ทุกฤดู ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ และมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ที่สำคัญคือ จีนอยู่เหนือน้ำ ล่องเรือตามน้ำ ขณะที่ไทยอยู่ปลายน้ำ ถ้าจะส่งสินค้าไปจีนต้องล่องเรือทวนน้ำขึ้นไป อีกทั้งจีนมีเขื่อนหลายเขื่อนที่สามารถควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ โดยเฉพาะเขื่อนล้านช้างที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ ทำให้จีนมีข้อได้เปรียบไทยอยู่มาก,และขนส่งทางอากาศผ่านเครื่องบิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

“มองว่าไปทางเรือช้าสุด แต่ต้นทุนไม่แพง แต่เส้น R3 เร็วกว่าเรือแต่มีข้อจำกัดที่ระดับน้ำของแม่น้ำโขง แต่อนาคตเมื่อมีการทำถนนยาวในเส้น R3a สำเร็จ และจะมีการพัฒนารถไฟเชื่อมกับจีนต่อไปนั้น การบริหารเวลาและค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์จะทำได้ดีกว่านี้มาก”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันลักษณะของการส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนั้น ยังเป็นลักษณะที่บริษัทจีนได้ทำการส่งสินค้าของจีนเอง และใช้ไทยเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ซึ่งไทยไม่ได้อะไรจากจุดนั้น แต่ต่อไปสิ่งที่ต้องเน้นคือเราจะไม่แข่งกับจีน เพราะสู้บริษัทจีนไม่ได้ แต่จะเน้นความร่วมมือในการเป็นตัวกลางในการส่งสินค้าจากจีนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง พม่า เวียดนาม หรือทางใต้คือมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มาก

เจาะจุดแข็งตลาดจีน-หาช่องไทยได้เปรียบ

“สิ่งที่ต้องศึกษาให้ดีคือ ทำไมโลจิสติกส์ของจีนถึงได้เปรียบ และไทยมีช่องทางไหนที่จะได้เปรียบได้บ้าง”

โดยจุดแข็งของบริษัทจีนนั้นที่สำคัญคือจีนมีเงินจำนวนมาก ลักษณะการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ได้ทำให้การตัดสินใจทำเส้นทางต่างๆ ทำได้รวดเร็วกว่าไทยมาก เช่นเห็นว่าเส้นทางใดมีความเหมาะสม ก็สร้างได้ทันที ไม่มีกลุ่มใดมาคัดค้าน พอเจอเหว ด้วยความที่มีเงินจำนวนมากก็สามารถสร้างสะพานข้ามเหวได้ทันที เจอภูเขาก็เจาะเขาได้ ทำให้เส้นทางโลจิสติกส์ของจีนมีระยะทางที่ใกล้ และสูญเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ขณะที่ค่าแรงงานด้านโลจิสติกส์ของจีนถูกมาก ทำให้ต้นทุนด้านนี้ของจีนต่ำ อีกทั้งจีนยังมีข้อได้เปรียบเรื่องคอนเน็กชั่นกับประเทศต่างๆ เพราะประเทศต่างๆ ก็อยากเข้าไปทำธุรกิจในจีน จีนจึงมีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ ได้มาก

“สู้ยาก ร่วมมือกันให้ประโยชน์ win-win ดีกว่า แต่ไทยก็ต้องปรับตัว การค้าตัวไหนที่สู้จีนไม่ได้ ก็ปรับเปลี่ยนทำในสินค้าที่สู้ได้ เช่นถ้าสินค้าวัตถุดิบตัวไหนของจีนถูก ไทยก็นำเข้ามาผลิตในไทยเพิ่มมูลค่าก่อนส่งไปลาว พม่า เวียดนามฯลฯ อย่าไปแข่งกันที่สินค้าถูก เพราะไม่มีทางสู้ได้ เน้นการเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้จีนดีกว่า”

สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะสู้จีนได้ดีที่สุด คือการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดีกว่า โดยเน้นไปที่การขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ ถ้าใช้รถขนส่งสินค้าไปจีน รถคันนั้นขากลับต้องมีสินค้ากลับมาด้วย และต้องจัดสินค้าให้ได้เต็มคันรถมากที่สุด เป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างบริษัทด้านโลจิสติกส์กับพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกัน และเป็นจุดที่จะทำให้ไทยได้เปรียบจีนมาก

ตามติดภาครัฐเปิดตลาดมังกร

สำหรับการเจาะตลาดโลจิสติกส์ในจีน ช่วงแรกจะเน้นส่งสินค้าไปกับพ่อค้าไทยที่ส่งสินค้าไปจีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะยางพารา กับลำใย ที่มักจะส่งไปที่มณฑลยูนนาน กับคุนหมิง ดูว่าการส่งสินค้าไปกับขบวนไหนที่เหมาะสมและต้นทุนต่ำ แต่ระยะต่อไป เมื่อสินค้าไทยเป็นที่นิยม ทางบริษัทก็จะตามพ่อค้าเข้าไปในมณฑลอื่นๆ ด้วย เพื่อไปจัดทำ Solution และค่าขนส่งทางโลจิสติกส์ที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้แผนการทั้งหมดก็ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการส่งออก ของกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนสำคัญในการเจรจาการค้ากับจีน และในการจัดกิจกรรมทางการค้า ให้มีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทย-จีนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาบริษัทฯได้ร่วมเดินทางไปกับคณะที่ไปจับคู่ทางการค้า และศึกษาการบริหารราคาโลจิสติกส์ในแต่ละมณฑลด้วย

“ตอนนี้เรายังเจาะตลาดจีนไม่ได้มาก มีการส่งสินค้าไปขึ้นทางเรือของจีนเท่านั้น แต่จากท่าเรือของจีนกระจายสินค้าสู่มณฑลต่าง ๆ บริษัทจีนทำเอง ซึ่งไทยเข้าไปแข่งยาก เพราะแต่ละมณฑลมีข้อจำกัดต่างกัน มีกฎหมายท้องถิ่นที่ต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยคนในพื้นที่อยู่มาก”

กำลังโหลดความคิดเห็น