xs
xsm
sm
md
lg

อู๋อี๋”สตรีเหล็ก”จีนลาเวทีอำนาจแถวหน้าของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาดามอู๋อี๋ รองนายกรัฐมนตรจีน ผู้ได้รับสมญานาม”สตรีเหล็ก”แห่งแดนมังกร และเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน
เอเจนซี่-มาดามอู๋อี๋ รองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ได้รับสมญานาม”สตรีเหล็ก”แห่งแดนมังกร และเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน ก้าวลงจากเวทีอำนาจระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอาทิตย์(21 ต.ค.) ส่งสัญญาณการเกษียณในอนาคตของหญิงเหล็กผู้นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันอาทิตย์(21 ต.ค.)

โดย มาดามอู๋อี๋ วัย 69 ปี ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันสุดท้าย( 21 ต.ค.)ของการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 17

การที่อู๋อี๋ไม่ได้มีตำแหน่งในคณะกรรมการกลางพรรคฯนั้น หมายถึงว่าเธอจะไม่ได้รับการเสนอชื่อสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมรัฐสภาในเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าอายุจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อู๋อี๋พลาดการเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกลางพรรคฯอีกสมัย

ทั้งนี้ “สตรีเหล็ก”ผู้ซึ่งเคยมีส่วนร่วมในการนำพาจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกอย่างน่าทึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปี เข้าดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เมื่อต้นทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำทีมการเจรจาในการนำจีนเข้าสู่องค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)ในปี 2001 รวมถึงภารกิจรับมือกับการระบาดของโรคทางเดินหายในเฉียบพลัน(ซาร์ส)ของจีนในปี 2003

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสตรีเพียงท่านเดียวคือ มาดามอู๋อี๋ ที่ได้เข้าเป็น 1 ในสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองฯ องค์กรที่ทรงอำนาจรองจากคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ ซึ่งทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ในประวัติศาสตร์จีนยังไม่เคยมีผู้หญิงได้เข้าเป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯเลย

และก่อนหน้าอู๋อี๋ ก็มีสตรีแค่เพียง 3 คนเท่านั้น ที่เข้าเป็นสมาชิกกรมการเมืองฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภริยาของผู้นำระดับสูง รวมไปถึงเจียงชิง ภริยาของประธานเหมาเจ๋อตง และเป็นหัวหน้า “แก๊งค์ 4 คน” กลุ่มหัวรุนแรงในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ซึ่งถูกศาลสูงสุดพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่เจียงชิงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงในปี 1991

“บทบาททางการเมืองของผู้หญิงเริ่มตกต่ำหลังจากยุคของเจียงชิง ประชาชนมองว่ากรณีของเจียงนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองจีนได้” คริสติน่า กิลมาร์ติน ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศึกษาในสังคมจีนสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยนอร์ธอิสเทิร์นของบอสตันกล่าว

เฟิงหยวน ผู้ประสานงานด้านสิทธิสตรีจาก ActionAid องค์กรไม่แสวงหากำไรกล่าวว่า “เราไม่อาจตัดสินได้ว่า การที่ไม่ค่อยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงนั้น เกิดจากความคิดและวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือระบบการเมืองของจีน เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ความคิดตามประเพณีและระบบการเมืองมีอิทธิพลและส่งเสริมซึ่งกันและกัน”.
กำลังโหลดความคิดเห็น