xs
xsm
sm
md
lg

หม่าฟู่ซิง ครูไร้มือผู้ยิ่งใหญ่แห่งที่ราบสูงชิงไห่ - ทิเบต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ โรงเรียนประถมในขุนเขาบ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ หมู่บ้านฮั่นตง เขตหวงจง เมืองชิงไห่ มีคุณครูประถมอายุ 48 ปี นามว่าหม่าฟู่ซิง เป็นผู้พิการมือด้วนตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ทำให้เขาฝ่าพันอุปสรรค จนสามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติจนจบการศึกษา และกลายมาเป็นครูที่ผู้คนให้การยกย่องว่าเป็น “ผู้พิการที่ยิ่งใหญ่แห่งที่ราบสูงชิงไห่ - ทิเบต”

เมื่อภาคการศึกษาใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น หม่าฟู่ซิง ชาวเผ่าหุย เริ่มต้นเขียนเนื้อหาของวิชาภาษาและวรรณกรรมลงบนกระดานดำ มีใจความว่า "หนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง" ซึ่งหากไม่เห็นด้วยตาตนเอง ยากยิ่งที่จะเชื่อว่าตัวหนังสือที่ทั้งแข็งแรงและมีพลังบนกระดานดำนั้นจะมาจากผู้เขียนที่ไร้มือทั้ง 2 ข้าง ก้านชอล์กที่อยู่ในการพยุงของท่อนแขน 2 ข้างเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ ซึ่งหม่าฟู่ซิงได้ใช้วิธีการนี้ในการขีดเขียนตัวอักษรบนกระดานดำที่โรงเรียนประถมเล็กๆ ในขุนเขาอันห่างไกล ณ ราบสูงชิงไห่ - ทิเบต มากว่า 27 ปีแล้ว
  
ใช้เท้าแทนมือ

ในครั้งแรกที่พบกัน หม่าฟู่ซิง ใช้ท่อนแขนที่ว่างเปล่าทั้ง 2 ของเขาเกาะกุมมือของผู้สื่อข่าวเขย่าโดยแรง เช่นเดียวกับเวลาที่เขาตรวจแก้การบ้านของนักเรียนนั้น ก็ใช้ท่อนแขนจับปากกาขีดเขียนอย่างลื่นไหล และรวดเร็วไม่แพ้คนปกติ ส่วนเวลาใช้คอมพิวเตอร์เขาจะใช้แขนข้างหนึ่งกดเมาส์ ซึ่งบ่อยครั้งที่กดผิดกดถูก หรือต้องเลื่อนไปเลื่อนมาเป็นเวลานานปลายลูกศรจึงจะชี้ไปตรงเป้าหมายที่ต้องการบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ กระนั้น ผู้ที่อยู่ต่อหน้าเขา จะไม่มีความรู้สึกสมเพช หรือสงสารเขาแม้แต่น้อย สิ่งที่มีก็เพียงความยกย่องนับถือ คนผู้นี้เท่านั้น

ฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2502 หม่าฟู่ซิง ถือกำเนิดที่บ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ พออายุได้ราว 4 เดือน ชีวิตน้อยๆ นี้ก็ประสบอุบัติเหตุจากไฟ ทำให้เกิดรอยไหม้ทั่วร่างกาย มือทั้ง 2 ข้างของเขาก็เสียไปจากเหตุการณ์ในครั้งนี้นั่นเอง

เมื่อเขาอายุได้ 4 ขวบ ถึงเวลาที่บรรดาพี่ชายพี่สาวปิดเทอมกลับมาบ้าน หม่าได้แอบๆ ใช้ปากเปิดหนังสือเรียนของพี่ๆ และตั้งอกตั้งใจอ่าน หลังจากนั้นรอจนพี่ๆ กลับไปเรียนหนังสือแล้ว เขาจึงเริ่มแอบหัดใช้เท้าเขียนหนังสือ เมื่อเวลาล่วงเลยไปจนเขาอายุไป 8 ขวบ เขาก็เรียนรู้ตัวอักษรจีนบางส่วนและจดจำจนขึ้นใจแล้ว ดังนั้นเขาจึงรวบรวมความกล้าบอกกับบิดามารดาว่า “ผมจะเรียนหนังสือ”

“ผมเขียนหนังสือได้” เด็กน้อยแซ่หม่าได้กล่าวกับบิดามารดา และใช้เท้าหนีบกิ่งไม้ขีดเขียนคำว่า “ใหญ่ เล็ก บน ล่าง หน้า หลัง ซ้าย ขวา” ลงบนลานดิน ซึ่งทำให้บิดาของเขาถึงกับตะลึง ส่วนมารดาก็ตื้นตันจนร้องให้ออกมา หม่าฟู่ซิงใช้วิธีการเดียวกับนี้เองเอาชนะใจของครูใหญ่ หลังจากนั้น โรงเรียนบ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ก็มีเด็กนักเรียนที่ใช้เท้าเขียนหนังสือเข้ามาเรียนด้วย 1 คน

หม่าฟู่ซิง ผ่านการฝึกฝนกว่า 4 ปีจึงสามารถใช้ท่อนแขนเขียนหนังสือได้ โดยเขาต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมดินสอ ควบคุมกระดาษ และควบคุมตัวอักษรที่เขียนลงไป ...เพื่อให้สามารถเขียนตัวหนังสือสวยๆ ได้เร็ว และเพื่อประหยัดกระดาษกับดินสอที่ต้องเสียไป เขาจึงใช้กิ่งไม้แทนดินสอ ใช้พื้นดินแทนกระดาษในการหัดขีดเขียนในทุกที่ ทุกเวลา เขา เขียน เขียน และเขียน จนกระทั้งสองแขนที่ไร้มือของเขาถลอก และเกิดรอยแผลจากการขีดข่วนของกิ่งไม้ ผ่านไป 4 ปี เขาสามารถเขียนหนังสือด้วยความเร็วเท่าๆ กับเพื่อนร่วมชั้น ตัวหนังสือก็ไม่แตกต่างจากเพื่อนๆ ของเขาอีกต่อไป

ร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาศึกษาเล่าเรียน เขาต้องทุ่มเทมากว่าที่คนร่างกายปกติทุ่มเท แต่ผลการเรียนของเขาก็เป็นอันดับที่ 1 เสมอ โดยตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 2 เป็นต้นมา เขาก็รับตำแหน่งเป็นทั้งหัวหน้าห้อง และเลขาห้องที่คอยจดบันทึกประจำวันมาโดยตลอด และเมื่อปี พ.ศ. 2520 เขาก็สอบเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนมัธยมฮั่นตง ได้เป็นผลสำเร็จด้วยคะแนนยอดเยี่ยม

  
คุณครูแขนด้วนแห่งโรงเรียนหลังเขา

สิ่งที่หม่าฟู่ซิง เสียดายมากที่สุดคือ เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้ว ไม่ได้สมัครสอบเอนทรานซ์ แต่กระนั้นเขาก็ได้กลับมาเป็นอาจารย์ยังโรงเรียนบ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ที่คุ้นเคย

วันหนึ่งในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2524 เขาถูกพามายังห้องเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนเซี่ยหมาเอ่อร์ “วันนี้ครูมีคุณครูคนใหม่มาแนะนำให้นักเรียนรู้จัก พวกเธอชอบเขาหรือเปล่า?” อาจารย์ซึ่งนำเขามาได้กล่าวแนะนำเขากับบรรดานักเรียนตัวน้อยๆ ที่ต่างพากันนั่งเป็นใบ้ เมื่อเห็นสภาพของครูคนใหม่ของพวกเขา หม่าฟู่ซิง เองรู้ว่าบรรดาเด็กๆ คิดอะไรอยู่ เขาจึงใช้ท่อนแขนหยิบชอล์กขึ้นมาเขียนชื่อของเขาลงบนกระดานดำ หลังจากนั้นเด็กๆ จึงเรียกเขาว่า คุณครูหม่า เมื่อถึงเวลาเรียน หม่าได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ขณะที่คุณครูคนอื่นๆ สามารถสอนหนังสือ 3-4 ชั่วโมงใน 1 วัน แต่ครูหม่าสอนได้เพียง 1 ชั่วโมง แต่เขาก็ไม่โทษว่าโรงเรียน แต่พยายามที่จะฝึกฝนตนเอง เตรียมบทเรียนที่ต้องสอน จนกระทั่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียน เรียนรวมกัน โดยหนึ่งห้องเรียน ต่อนักเรียน 2 ชั้นปี ทำให้อาจารย์ 1 คนต้องดูแลนักเรียนทั้งหมด ซึ่งหม่าฟู่ซิงเองก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานเท่ากับครูคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

บ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ แห่งชิงไห่นั้นมีสภาพภูมิประเทศปิด อยู่หลังเขา จึงเป็นชนบทที่ล้าหลัง เคยมีช่วงหนึ่งที่เกิดปัญหานักเรียนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เมื่อเห็นนักเรียนค่อยๆ ลดน้อยลงทุกวัน ทำให้ครูหม่าเริ่มกังวล และเริ่มเดินทางไปพบผู้ปกครองของนักเรียนแต่ละคนเพื่อขอร้องให้เด็กมาเรียน เริ่มแรกผู้ปกครองไม่สนใจ ครูหม่า เล่าว่าบางบ้านล็อกประตูไม่ให้เขาเข้า บางบ้านชักสีหน้าใส่ และบางบ้านก็ปล่อยสุนัขออกมาเพื่อไล่ครูทางอ้อม แต่ครูหม่าก็ไม่ยอมแพ้ เจอผู้ปกครองเด็กที่ไหนก็จะเข้าไปหา ไปพูดคุยและเล่าประสบการณ์เรียนของตนเองกว่าจะมาถึงวันนี้ให้พวกเขาฟัง จนในที่สุดผู้ปกครองก็เห็นความตั้งใจของเขา และจำนวนนักเรียนในชั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น จนปัจจุบันสถิติ เด็กนักเรียนของบ้านเซี่ยหมาเอ่อร์ที่เข้าเรียนตามเกณฑ์ของทางการนั้นคิดเป็นร้อยละ 100 เลยทีเดียว 

หน้าที่ คือชีวิต

เฉินเวยจวิน ครูใหญ่ของโรงเรียนเซี่ยหมาเอ่อร์ กล่าวว่า สภาพหมู่บ้านในหุบเขานั้นยากลำบาก ทำให้ครูของที่นี่มักจะย้ายไปที่อื่นบ่อยๆ ปัจจุบันในบรรดาครูทั้ง 8 คนของโรงเรียน มีเพียงหม่าฟู่ซิงกับ เจ้าอี้ว์ฮวา ซึ่งเป็นภรรยขาของเขาเพียง 2 คนที่เป็นครูเก่าแก่ โดยครูหม่านั้นผูกพันกับโรงเรียนเป็นพิเศษ และเป็นครูที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง

หม่าฟู่ซิงมีลูกสาวที่ฉลาดน่ารักอยู่ 2 คน หม่าไห่เหล่ย ผู้เป็นลูกสาวคนโต เป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาคนแรกของหมู่บ้าน และเป็นความภาคภูมิใจของหม่าผู้พ่อ ในทำนองเดียวกัน เขาก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของบุตรสาว “ตอนเด็กๆ ขอให้พ่อซื้อสมุดฝึกเขียนให้พ่อไม่เคยซื้อ แต่ฉันกลับเห็นพ่อเอาสมุดพวกนี้ไปบริจาคให้นักเรียนที่โรงเรียนบ่อยๆ ทำให้ฉันโทษว่าพ่อลำเอียง แต่ตอนนี้ฉันเข้าใจแล้วว่า การดูแลลูกสาวคือภาระของพ่อ ส่วนการดูแลนักเรียนก็คือหน้าที่ของพ่อเช่นกัน ซึ่งหน้าที่นี้เป็นเสมือนชีวิตของท่าน” หม่าไห่เหล่ยกล่าวด้วยความชื่นชมผู้เป็นบิดา

ความมุมานะในหน้าที่ของหม่าฟู่ซิง ทำให้ผู้คนยกย่องเขาเป็น “ผู้พิการที่ยิ่งใหญ่แห่งที่ราบสูงชิงไห่ - ทิเบต”

ที่มา: XINHUANET
กำลังโหลดความคิดเห็น