ซินหัวเน็ต-นักโบราณคดีจีนเริ่มขุดค้นเพื่อทำการวิจัยหลุมฝังศพ ซึ่งภายในมีโลงศพ 47 โลง สันนิษฐานประวัติย้อนหลังไปถึงสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก(770-221 ก่อนคริสต์ศักราช)อายุร่วม 2,500 ปี ในหมู่บ้านหลีเจี่ย เมืองจิ้งอัน มณฑลเจียงซีทางภาคตะวันออกของจีน นับเป็นการค้นพบจำนวนโลงศพที่มากที่สุดในหลุมเดียว
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม,มานุษยวิทยาโบราณ ธรณีวิทยาและป่าไม้ รวมถึงนักโบราณคดีทั่วประเทศจีนต่างเข้าร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้ ขณะที่สื่อและผู้เชี่ยวชาญขนานนามการค้นพบครั้งนี้ว่า “โครงการโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งปี”
“จะมีการหาเพศและอายุของศพก่อนเสียชีวิต สาเหตุการตาย รูปพรรณสัณฐาน วันฝังศพ และสาเหตุที่ถูกฝังร่วมกัน” ฟานฉางเซิง ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีมณฑลเจียงซีกล่าว
หลุมฝังศพยาว 16 เมตร กว้างราว 11.5 เมตร และลึก 3 เมตร โลงศพมียาว 2.5-2.8 เมตร กว้าง 0.5 เรียงรายอยู่ภายในหลุมอย่างเป็นระเบียบ
ก่อนหน้านี้ นักโบราณคดีได้เปิดโลงศพไป 9 โลง พบว่าศพเน่าและมีบางส่วนที่ถูกพวกขโมยทำลาย หลังจากนั้นได้เปิดอีกโลงในเช้าวันอาทิตย์(1 ก.ค) พบโครงกระดูกมนุษย์,เนื้อเยื่อสมองที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเนื้อเยื่อหดตัวเหลือขนาดเท่ากำปั้น แต่มีโครงสร้างของสมอง 2 ซีก,ซีรีเบลลัม และก้านสมองที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ภายในโลงศพยังพบสิ่งของต่างๆที่ทำจากเงิน ทอง และสัมฤทธิ์ เครื่องเคลือบและหยก
“เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบศพยุคโบราณที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งช่วยเพิ่มข้อมูลการศึกษาโครงสร้างกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน(770-221 ก่อนคริสต์ศักราช)” จูหง นักมานุษยวิทยาโบราณ มหาวิทยาลัยจี๋หลินกล่าว
รูปแบบการฝังศพที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถอธิบายถึงสาเหตุที่กระดูกและเนื้อเยื่อสมองถูกรักษาไว้อย่างดีในบริเวณที่ดินมีความเป็นกรด ซึ่งไม่เหมาะแก่การเก็บรักษาร่างกายมนุษย์ โดยโลงศพทำจากต้นหนานมู่ผ่าครึ่ง ซึ่งเป็นไม้หายากและล้ำค่ายิ่ง ตัวโลงถูกนำไปเผาไฟเพื่อเพิ่มความแข็ง รักษาความดัน และกันน้ำ และถูกผนึกอย่างหนาแน่นจึงมีปริมาณออกซิเจนซึ่งเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียเพียงเล็กน้อย จูกล่าว
หลังการค้นพบ มีการนำโลงศพไปเก็บไว้ในโรงเก็บที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งหลังจากนั้นนักโบราคดีได้ทยอยตรวจสอบโลงศพ คาดจะพบโครงกระดูกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังเหลือโลงศพอีก 1 โลงที่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายจากหลุม เนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก โดยมีน้ำหนักราว 2 ตัน และมีการเปิดโลงไปเมื่อวันจันทร์(3) เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้จะให้ข้อมูลล้ำค่าในการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม พิธีกรรมเกี่ยวกับศพ และวิถีชีวิตในบริเวณนี้.