xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติอย่างไร (18)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การสร้างชาติของจีนยุคใหม่ ทำกันได้อย่างจริงจังภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีน(ก้งฉันตั่ง)ได้ชัยชนะเหนือพรรคก๊กมิ่นตั๋ง(กั๋วหมินตั่ง) ประเทศจีนดำเนินการปกครองในระบอบสังคมนิยม มีพรรคคอมมิวนิสต์ใช้อำนาจบริหารประเทศ
จะสร้างชาติอย่างไร ? พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในยุคที่มีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำ รับเอาแบบอย่างการพัฒนาประเทศของอดีตสหภาพโซเวียตมาปรับใช้กับประเทศจีน พร้อมกันนั้นก็แสวงหารูปแบบการพัฒนาแบบจีน ที่เหมาะสมกับประเทศจีน แต่มาสะดุดที่การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม
พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง ได้สรุปบทเรียนทั้งในและต่างประเทศ ประกาศแนวทางการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ดำเนินการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน พัฒนารูปแบบการสร้างชาติจีนยุคใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศจีน ในบริบทของสังคมโลกยุคปัจจุบัน ประสบความสำเร็จรอบด้าน
จึงมีการกล่าวกันว่า แนวคิดการสร้างชาติจีนยุคใหม่ที่มีต้นแบบบนฐานของจีนเอง ที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “สังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” เริ่มต้นในยุคเหมาเจ๋อตง และมาสำเร็จในยุคเติ้งเสี่ยวผิง
สรุปออกเป็นทฤษฎีชี้นำ เรียกว่า “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง”
คณะผู้นำพรรคฯจีนรุ่นต่อๆมา เช่นรุ่นที่มีเจียงเจ๋งหมินเป็นแกนนำ และรุ่นปัจจุบันที่มีหูจิ่นเทาเป็นแกนนำ ได้ดำเนินการสร้างชาติจีนตามทฤษฎีนี้ และพัฒนาต่อยอดเป็นทฤษฎีใหม่ๆ แตกแขนงออกไปมากมาย หลักๆก็คือหลักคิดสำคัญเรื่อง “ตัวแทน 3 ประการ” (ซันเก้อไต้เปี่ยว)และทัศนะ “การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” (เคอเสวียฟาจั่นกวน)
อีกนัยหนึ่ง ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการบริหารประเทศจีน ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ประสบความสำเร็จ เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค กันจริงๆจังๆ เริ่มต้นตั้งแต่ปลายทศวรรษปี ค.ศ.1970 ตราบจนถึงทุกวันนี้

ปฏิรูปและเปิดประเทศ
การปฏิรูปและเปิดประเทศ เป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบของ “แนวทางพื้นฐาน” ในการบริหารประเทศ (แนวทางพื้นฐานประกอบด้วย “หนึ่งใจกลาง สองจุดค้ำ” หนึ่งใจกลาง ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็น “หัวใจ”ของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย สองจุดค้ำ โดยจุดค้ำแรกก็คือการยืนหยัดในหลักการพื้นฐาน 4 ประการ เพื่อประกันให้จีนครองตัวอยู่ในระบอบสังคมนิยม เช่นต้องมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้นำการบริหารประเทศ ต้องยึดมั่นในลัทธิมาร์กซ์ ต้องดำเนินประชาธิปไตยของประชาชน และต้องเดินไปบนเส้นทางของสังคมนิยม
ส่วนจุดค้ำที่สองก็คือ การปฏิรูปและเปิดประเทศ
การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำได้ดี จะต้องมีหลักประกันทางด้านการเมือง ต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง ปลอดจากปัญหาวิกฤติและความวุ่นวายใดๆ การยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน 4 ประการ ก็เพื่อสิ่งนี้
เท่านี้ยังไม่พอ จำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ขจัดอุปสรรคต่างๆที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศในระบอบสังคมนิยม เพื่อให้การพัฒนาพลังการผลิตของประเทศจีนดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ ขณะที่การเปิดประเทศก็จัดอยู่ในมิติหนึ่งของการปฏิรูป
การปฏิรูปและเปิดประเทศ จึงแสดงบทบาทเป็นพลังขับเคลื่อน หรือพลังดันของกระบวนการสร้างชาติของจีนยุคใหม่ เป็นตัวเปิดทางให้แก่การพัฒนาพลังการผลิต
ถ้าไม่มีการปฏิรูป ทุกอย่างก็จะอยู่นิ่งเหมือนเดิม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พรรคฯจีนสรุปบทเรียนการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมแบบเก่า ที่มุ่งเน้นสร้างระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบสังคมนิยม ตามหลักทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ มุ่งก้าวไปสู่ความเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ในเร็ววัน ด้วยการทำให้ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตและโครงสร้างชั้นบน เช่นความคิดการเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม มีความเป็นคอมมิวนิสต์ยิ่งยวด ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นสังคมนิยมแต่เปลือก แก่นในกลวง
“แก่นใน”ของระบอบสังคมนิยม ตามที่พรรคฯจีนเข้าถึง โดยการอธิบายของเติ้งเสี่ยวผิง ก็คือ พลังการผลิต
การสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม ก่อนอื่นใดจะต้องพัฒนาพลังการผลิตให้เข้มแข็งใหญ่โตเพราะในทางประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมมนุษย์ พลังการผลิตของสังคมนิยมจะต้องก้าวหน้ายิ่งกว่าของระบอบทุนนิยม
ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตใดๆ หรือกฎกติกาทางสังคมใดๆ ก็เพื่อเปิดทางให้แก่การพัฒนาพลังการผลิตของสังคม ต้องเป็นผลดีต่อการเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบอบสังคมนิยม ในกรณีของประเทศจีน ก็คือจะต้องเสริมความเข้มแข็งให้แก่ฐานะการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เสริมความเข็มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวจีน เสริมความเข้มแข็งให้แก่ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ และเสริมความเข้มแข็งให้แก่ประเทศจีนบนเส้นทางของการก้าวไปสู่ความเป็นสังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคตยาวไกล
เติ้งเสี่ยวผิง จึงกล่าวว่า การปฏิรูปและเปิดประเทศ คือเส้นชีวิตของประเทศจีน
การปฏิรูปของจีนครอบคลุมไปทั่วทุกด้าน เช่นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ จากระบบวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาด การปฏิรูประบบการเมือง จากการรวมศูนย์อำนาจมาเป็นกระจายอำนาจ พัฒนาระบอบประชาธิปไตยทั้งภายในพรรคและในขอบเขตทั้งประเทศ เป็นต้น
การปฏิรูปทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ขจัดอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพลังการผลิตของสังคมจีนให้หมดสิ้นไป
เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่า การปฏิวัตินำไปสู่การปลดปล่อยพลังการผลิต การปฏิรูปก็เช่นเดียวกัน จะนำไปสู่การปลดปล่อยพลังการผลิต เป็นการขจัดอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพลังการผลิตของสังคม
การที่กลุ่มประเทศสังคมนิยมส่วนใหญ่ของโลก ต้องล่มสลาย สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่เข้าใจใน “แก่นแท้”ของสังคมนิยม ไม่ดำเนินการปฏิรูป ปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต แต่เน้นการจัดทำระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์ตามตำราปรมาจารย์ บั่นทอน จำกัด และยับยั้งกระบวนการปลดปล่อยพลังการผลิต และพัฒนาพลังการผลิตของสังคมอย่างทั่วด้าน ประชาชนไม่ได้ลิ้มรสความอร่อยของสังคมนิยม ไม่รู้สึกว่าสังคมนิยมมีอะไรดีกว่าทุนนิยม ตรงกันข้าม กลับมองเห็นว่า โลกทุนนิยมดีกว่า น่าอยู่กว่าเป็นไหนๆ พวกเขาจึงสามารถ “โยนทิ้ง”สังคมนิยมไปอย่างง่ายดาย
ในกรณีของประเทศจีน การปฏิรูปมีความจำเป็นรีบด่วนยิ่งกว่า เนื่องจากจีนใหญ่โตมาก ล้าหลังมาก ประชาชนชาวจีนยากจนมาก เป็นประเทศสังคมนิยมที่ยังไม่เข้าขั้น จัดอยู่ในประเภท “สังคมนิยมขั้นปฐม” การปฏิรูปใดๆที่ทำให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ดี ล้วนจะต้องเร่งทำ การเปิดประเทศเพื่อรับเอาเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าจากต่างประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูป เช่นมีการเปิดเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่เซินเจิ้น จูไห่ ซั่นโถว (ซัวเถา) และเซี่ยเหมิน เป็นเบื้องต้น
เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่า การพัฒนาของประเทศจีนจะสำเร็จได้ด้วยการเชื่อมตัวเองเข้ากับสังคมโลก จะแยกตัวออกจากสังคมโลกไม่ได้
ประเทศจีนต้องพึ่งลำแข้งตนเอง ยืนบนลำแข้งตนเอง แต่ก็ต้องใช้ประโยชน์ความเจริญก้าวหน้าของประเทศทุนนิยม ใช้ประโยชน์จากเงินทุนที่มีอยู่ท่วมโลก
แต่ทั้งหมดนั้น ประเทศจีนจะละทิ้งระบอบสังคมนิยมไปไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ระบอบสังคมนิยมก็เป็นระบอบที่ดี ต้องยืนหยัดปกป้องรักษา การปฏิรูปก็เพื่อการปรับปรุงระบอบสังคมนิยมจีนให้ดีขึ้น ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น ประชาชนชาวจีนจะอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า
ตามนัยของ “แก่นแท้”สังคมนิยมที่เน้นในความ “มั่งคั่งร่วมกัน”

----------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น