เอเอฟพี - ท่ามกลางตึกสำนักงานสูงระฟ้าและอพาร์ตเม้นท์สุดหรู ซึ่งเป็นที่พำนักของกลุ่มมหาเศรษฐีแห่งเอเชีย ในเขตเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม อย่าง หลุยส์ วิตตอง มากเสียยิ่งกว่าในกรุงปารีสหรือนิวยอร์ก
แทบไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังสถานที่เช่นนี้ ยังมีหลืบมุมหนึ่งเป็นที่อาศัยของกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ รวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งถูกลูกหลานทอดทิ้ง ที่ต้องจำใจแออัดอยู่ร่วมกันในห้องแคบๆ ห้องละ 8-9 คน แต่ละคนอยู่กันอย่างเป็นสัดส่วนใน “ห้องกรง” แคบๆ ที่มีพื้นที่สามารถรองรับได้แค่เพียงเตียงหลังเดียวเท่านั้น
ข่งเส้าเกิน ชายชราวัย 61 ปี ซึ่งลูกหลานไม่เคยมาดูดำดูดี เป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องกรงที่พวกเขาเรียกว่า “บ้าน” เฟอร์นิเจอร์ของเขามีเพียงชั้นวางของที่ทำขึ้นเอง เพื่อวางแก้วน้ำและซอกเตียง ที่ใช้ต่างตู้เสื้อผ้า ส่วนเพื่อนบ้านของเขา พ่อเฒ่าไท่เหยียนปอ แขวนผ้าขนหนู เสื้อผ้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก และแปรงสีฟัน ไว้กับลูกกรงข้างเตียง นอกจากพวกเขาแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 7 คนต่างอาศัยอยู่ใน “กรง” ของตัวเอง
ลุงข่งเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมว่า “ฉันเคยพยายามหางานทำแล้ว แต่ไม่มีใครอยากจ้างคนแก่เข้าทำงาน ฉันไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองจะลงเอยแบบนี้ แต่ตอนนี้ผมก็ปลงแล้ว”
จากสถิติของทางการระบุว่า ช่องว่างระหว่างคนรวย-จนถ่างกว้างออกไปทุกขณะ เมื่อปีที่แล้ว 1 ใน 15 ครอบครัวมีรายได้รวมต่อเดือน 770 เหรียญสหรัฐ (ราว 26,700 บาท) หรือน้อยกว่านี้ เพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อน 4% ขณะที่ผู้มีรายได้ 3,850 เหรียญสหรัฐ (ราว 133,700 บาท) หรือมากกว่านี้ เพิ่มขึ้น 2%
ที่พักอาศัยที่ล้อมกรอบด้วยกรงเหล็กนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความยากจนที่นับวันยิ่งทวีความเลวร้ายลงในเมืองทางตอนใต้ของจีน ในสังคมฮ่องกงที่มีประชากรมากถึง 7 ล้านคน แต่มีกลุ่มคนที่ยากจนข้นแค้นอย่างข่งและไท่ถึง 1.25 ล้านคน มีเพียง 35% ของประชาชนวัยทำงาน ทั้งสิ้น 3.4 ล้านคนเท่านั้นที่จ่ายภาษีเงินได้
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะฟื้นตัวเต็มที่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี ค.ศ.1997 และการระบาดของโรคซาร์ส ที่กระหน่ำซ้ำเมื่อปี 2003 จนส่งผลให้มูลค่าบ้านตกลง 70% และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตก 3.3% แต่แรงงานรายได้ต่ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เหอสี่หัว ผู้อำนวยการองค์กรบริหารจัดการสังคมชี้ว่า การจ้างงานลดลงหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ มันไม่สามารถฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนปี 1997 ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทฮ่องกงหันไปเปิดบริษัทใหม่ในแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงหาแรงงานราคาถูก ทำให้ตำแหน่งงานสำหรับชาวฮ่องกงน้อยลง และกดดันให้แรงงานชาวฮ่องกงต้องจำใจรับค่าแรงที่ต่ำกว่าปกติ “ปัญหาใหญ่ของพวกเราคือ ถึงแม้คนจะถูกจ้างงานมากขึ้น แต่ค่าแรงยังคงไม่พอเพียงสำหรับชีวิตประจำวันอยู่ดี” เหอกล่าว
ด้านหวังหง ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะบริหารจัดการสังคมของมหาวิทยาลัยไชนีสกล่าวเสริมว่า อีกสาเหตุสำคัญคือ ฮ่องกงไม่มีกฎหมายกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ “ฉันเชื่อว่า ปัญหาความยากจนนี้ยังจะดำเนินต่อไป เพราะนอกจากงานจะน้อยลงแล้ว แต่กลับมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ”