ณ สถานที่แห่งหนึ่งในมณฑลเสฉวน สถานที่แห่งนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากนครเฉิงตูอันเป็นเมืองเอกของมณฑลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนในปี พ.ศ.2472 มีชาวนากลุ่มหนึ่งได้ขุดค้นพบเครื่องหยก ระหว่างการขุดร่องน้ำโดยบังเอิญ จากนั้นเรื่องราวของ ‘ซานซิงตุย’ เรื่องราวอันเป็นปริศนาของอารยธรรมโบราณแห่งเสฉวน ก็เริ่มปรากฏสู่สายตาชาวโลก
สาเหตุที่อารยธรรมแห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘ซานซิงตุย (Three Star Mound)’ หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ดอยสามดาว’ ก็เนื่องมาจาก ณ ที่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบเฉิงตู กลับมีเนินดินสีเหลืองผุดขึ้นมาสามเนินใหญ่อย่างแปลกประหลาด
ข้อมูลจากการศึกษา ค้นคว้าของนักวิชาการชาวจีนบ่งชี้ว่า จีนในสมัยโบราณประกอบด้วยชนเผ่ามากมาย โดยแต่ละชนเผ่าต่างก็ตั้งตนเป็นแคว้นเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด ในอดีตเมื่อราว 3,000-5,000 ปีก่อน ณ ดินแดนซึ่งกลายเป็นมณฑลเสฉวนในปัจจุบันนั้น เป็นที่ตั้งของ ‘รัฐสู่’ (วัฒนธรรมในดินแดนบริเวณนี้ชาวจีนเรียกรวมกันว่า ‘วัฒนธรรมปา-สู่’) รัฐที่มีอารยธรรมอันรุ่งโรจน์อยู่เกือบสองพันปีในสมัยที่ประเทศจีนอยู่ในยุคของราชวงศ์ซาง หรือราวศตวรรษที่17-11 ก่อนคริสต์ศักราช
การค้นพบอารยธรรมที่รุ่งเรืองอยู่ในอดีตเมื่อสามถึงห้าพันปีก่อนในดินแดนบริเวณนี้นั้นอุปมาอุปมัย คล้ายกับการค้นพบจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เมื่อนำอารยธรรมส่วนนี้มาประกอบกับอารยธรรมในส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนแล้วก็ทำให้ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนในภาพใหญ่นั้นแจ่มชัดขึ้น คือ พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อหลายพันปีก่อนอารยธรรมบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) ซึ่งอารยธรรม ‘ซานซิงตุย’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยนั้น ก็มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับอารยธรรมอื่นๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห)
ในปี พ.ศ.2529 นักโบราณคดีจีนได้ขุดค้นพบหลุมบวงสรวงใหญ่ 2 หลุมบริเวณ ‘ซานซิงตุย’ โดยภายในบรรจุไว้ด้วยโบราณวัตถุอันล้ำค่ากว่าพันชิ้น ประกอบไปด้วย เครื่องทอง เครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องหยก งาช้าง และเครื่องใช้ดินเผาที่ชำรุดจำนวนมาก การค้นพบครั้งดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่น่าตกตะลึง เพราะ เรื่องราวของอารยธรรมที่รุ่งเรืองเช่น ‘ซานซิงตุย’ นี้ กลับไม่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าไหนของจีนเลย
มากกว่านั้น การค้นพบที่ทำให้นักโบราณคดีจีนยิ่งต้องตกใจเข้าไปอีกก็คือ การขุดค้นพบหน้ากากทำจากสัมฤทธิ์และทองคำเป็นจำนวนมากในบริเวณซานซิงตุย ทั้งนี้ เค้ารูปหน้าของหน้ากากเหล่านี้ ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็ไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใดเลย เพราะเป็นหน้ากากของคนที่ คิ้วใหญ่ ตาโปน จมูกโต ใบหูกาง ปากทั้งแบนทั้งกว้าง และทุกคนเกือบไม่มีขากรรไกรล่าง ซึ่งหากมองบางมุมก็ออกจะกระเดียดไปทางรูปปั้นของชนเผ่าโบราณในแถบอเมริกาใต้ หรือบางคนก็ว่าคล้ายคลึงกับมนุษย์ต่างดาวเสียด้วยซ้ำ!
ในส่วนนี้นักวิชาการบางส่วนที่ไม่เชื่อเรื่องลึกลับได้วิเคราะห์ไว้ว่า หน้ากากเหล่านี้ สร้างขึ้นโดยเลียนแบบพระพักตร์ของกษัตริย์รัฐสู่ โดยสาเหตุที่สร้างให้อวัยวะบนใบหน้าของคนใหญ่โตเกินความเป็นจริงนั้น ก็เพื่อยกย่องกษัตริย์ผู้นั้น ซึ่งในส่วนนี้คนจีนเขากล่าวว่า ‘ตาที่โปน’ นั้น คล้ายกับบ่งบอกว่ากษัตริย์มีสายตายาวไกล สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลได้นับพันนับหมื่นลี้ได้ ขณะที่ ‘หูที่กาง’ นั้นก็บ่งบอกถึงความสามารถในการรับฟังของกษัตริย์ที่ สามารถได้ยินเสียงต่างๆ ที่ลอยมาตามสายลมได้สารพัด
นอกจากนี้ ที่ซานซิงตุย ยังมีการขุดค้นพบพบรูปปั้นคนทำจากสัมฤทธิ์ที่ใส่เสื้อคลุมลากยาวจรดเท้า สูงประมาณ 170 เซนติเมตรอีกด้วย โดยในส่วนนี้ มีการคาดเดากันว่ารูปปั้นสัมฤทธิ์นี้ อาจเป็นรูปของพ่อมด-หมอผีที่ทรงอิทธิพลของรัฐสู่ในเวลานั้น
นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับซานซิงตุยยังระบุอีกด้วยว่า วัตถุโบราณจำนวนมากที่ขุดค้นพบในซานซิงตุยนั้น ไม่เพียงบ่งบอกถึงลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมของรัฐสู่ ในสมัยโบราณเท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ให้พวกเราเห็นด้วยว่ารัฐสู่นี้ มีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างก้าวหน้า ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยน-ค้าขายกับดินแดนในแถบเอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออก รัฐต่างๆ รอบข้าง รวมถึงอาจจะได้รับอิทธิพลจากดินแดนวัฒนธรรมของชนเผ่าในทวีปอื่นๆ อีกด้วย
นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาเรื่องของซานซิงตุยบางคนอย่างเช่น Task Rosen แห่งพิพิธภัณฑ์บริติช แห่งประเทศอังกฤษตื่นเต้นกับ ‘ซานซิงตุย’ มาก จนถึงกับยกให้ว่าการค้นพบครั้งนี้นั้นยิ่งใหญ่กว่าการค้นพบหุ่นกองทัพทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่มณฑลส่านซีเสียอีก.