xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สามก๊ก’-ชมมรดกโลกแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 23 -27 มีนาคม ที่ผ่านมา “ผู้จัดการรายวัน”ได้รับเชิญจาก อาศรมสยาม-จีนวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมปัญญาภิวัตน์ บริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ให้เดินทางร่วมตามรอยสามก๊กพร้อมกับชมมรดกโลก เมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) สาธารณรัฐประชาชนจีน

ตามรอย ‘สามก๊ก’ หรือ สามประเทศ บทละครงิ้วของหลัวกว้านจงซึ่งเขียนขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) จนกลายเป็น1ใน4 ยอดวรรณกรรมอมตะของจีนมาถึงปัจจุบัน ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่อาศรมสยาม-จีนวิทยาพาคณะสื่อมวลชนจากไทยร่วมศึกษาประวัติศาสตร์จีนและเที่ยวชมมรดกโลกถึงสถานที่จริง

สุสานเล่าปี่ ศาลขงเบ้ง และบ้านจิ่นหลี่…

จุดแรกที่ได้เที่ยวชมคือ ศาลเจ้าขงเบ้ง หรือ อู่โหวฉือ แห่งเมืองเฉิงตู ประกอบด้วยสุสานเล่าปี่ ศาลขงเบ้ง และบ้านจิ่นหลี่ เป็นต้น รวมเนื้อที่ 139,860 ตรม. มีประวัติศาสตร์รวมยาวนานกว่า 1,784 ปี

จากวันนั้นถึงวันนี้ คนจีนเล่าต่อๆกันมาถึง ความยิ่งใหญ่ของขงเบ้งว่าทำให้นักท่องเที่ยวลืมความงามของทัศนีย์ภาพตามธรรมชาติ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ได้อธิบายไว้ว่า ศาลขงเบ้งมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการคือ 1.ในสุสานฮุ่ยหลิง เป็นที่ฝังศพของเล่าปี่และท่านผู้หญิงทั้งสอง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุแห่งยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-280)ที่เก่าแก่ที่สุดและส่งผลอันยาวไกลที่สุดของประเทศจีน

2.เป็นศาลแห่งเดียวของประเทศจีนที่บวงสรวงเซ่นไหว้ทั้งฮ่องเต้และขุนนางพร้อมๆกัน

และ 3.มีประวัติศาสตร์ทางโบราณวัตถุและทัศนียภาพที่เปิดให้ชมอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดระยะเป็นเวลากว่า 1,780ปี

สุสานฮุ่ยหลิง และ ศาลเล่าปี่ เริ่มสร้างเมื่อศักราชจางอู่ ปีที่ 3(ค.ศ.223)แห่งราชวงศ์สูฮั่น ในสมัยเหนือใต้ได้ทำการย้ายศาลขงเบ้งจากเมืองเซ่าเฉิงมาอยู่ที่นี้ สุสานฮุ่ยหลิง ศาลเล่าปี่ และศาลขงเบ้งทั้ง 3 จึงตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ๆกัน แต่แยกออกจากกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ.420-589)จนถึงราชวงศ์หยวน(ค.ศ.1271-1368) และถูกทำให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) รวมทั้งนำเล่าปี่และขงเบ้งมาบวงสรวงเซ่นไหว้ในศาลหลังเดียวกัน แต่ชาวสู่หรือเสฉวน ยังคงนิยมเรียกรวมสามสิ่งนี้ว่า ศาลขงเบ้ง

จากการบูรณะปฎิสังขรณ์ในสมัยฮ่องเต้คังซีปีที่ 11 (ค.ศ.1672)แห่งราชวงศ์ชิง จึงได้จัดแบ่งเป็นศาลองค์หน้าและศาลองค์หลังภายในศาลขงเบ้งอีก โดยได้รักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างหลักในศาลขงเบ้งหันหน้าไปทางทิศใต้โดยตั้งแต่อยู่ตามแนวกลาง ประกอบด้วย ศาลเล่าปี่ ศาลขงเบ้ง ศาลไตรสัตยพรต และ สวนละครแห่งหอร่วมสัตยาบัน เป็นต้น ทางทิศตะวันตกเป็นสวนสุสานฮุ่ยหลิง และ ห้องนิทรรศการวัฒนธรรมสามก๊ก

ภายในศาลยังมีศิลาจารึก โคลงคู่ ระฆังและกลองหอทิงหลี เรือนเซียงเยี่ย เป็นต้น ซึ่งเป็นเขตทัศนียภาพที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ มีรูปปั้นบุคคลในประวัติศาสตร์สามก๊ก 50 รูปซึ่งเกิดจากฝีมือจิตรกรในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)โดยส่วนใหญ่ รูปปั้นเหล่านี้ยังได้กลายมาเป็นเทพมงคลในสายตาประชาชนตั้งแต่ราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา เทพมงคลที่ว่าหมายถึง เทพที่นำมาซึ่งความเป็นมงคล ความผาสุก ปัญญาและโชคลาภ

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1780 เป็นต้นมา ศาลขงเบ้งค่อยๆก่อตัวเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั้นคือ “วัฒนธรรมสามก๊ก” ซึ่งเกิดจากการประสานของวัฒนธรรมขงจื้อกับวัฒนธรรมการทหารของจีน อันเป็นข้อมูลการศึกษาและตัวอย่างในด้านการปกครองประเทศ การปกครองทหาร การบริหารธุรกิจ การปฎิบัติตนต่อสังคม การปกครองครอบครัวและสั่งสอนลูกหลาน และด้วยสาเหตุนี้เอง จึงมีนักการเมือง นักการทหาร นักการทูต นักธุรกิจ และประชาชนโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศจีน เดินทางจากพื้นที่ห่างไกลเป็นพันลี้เพื่อมาเยี่ยมชมและศึกษา ทุกๆปีจะมีผู้มาท่องเที่ยวและบวงสรวงเซ่นไหว้ศาลเจ้าขงเบ้งกว่า 1 ล้านคน

นอกจากศาลเจ้าขงเบ้ง “ผู้จัดการรายวัน” ชมพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย ซึ่งเก็บรวมรวมข้าวของเครื่องใช้จากสำริดที่ขุดพบจากเมืองซานซิงตุย สะท้อนให้เห็นถึงอารธรรมเก่าแก่ที่มีมากว่า 3,600 ปี

ชมสุสานบังทองที่เมืองเต๋อหยัง สวนฝูเล่อซาน ที่เมืองเหมียนหยัง

จากนั้นได้ทัศนะศึกษาเขื่อนตูเจียงเยี่ยน ที่กวนเซียง ซึ่งถือเป็นเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเปิดใช้งานเป็นหนึ่งในมรดกโลกของมณฑลเสเฉวน และที่เมืองนี้มีศาลเจ้าหลี่ปิง หรือ ศาลเจ้าเอ้อหวางเมี่ยวที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่ง ต่อด้วยการเที่ยวชมเขาชิงเฉิงซาน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิเต๋าของจีน และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ก่อนจะปิดท้ายรายการที่การล่องเรือ นมัสการ หลวงพ่อโตเล่อซาน ที่เป็นมรดกโลกอีกหนึ่งแห่ง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ความสูง 71 เมตร องค์พระได้รับการขนานนามให้เป็นพระที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำต้าตู้และหมินเหอ พระพักตร์ของพระองค์นั้นมีความเชื่อว่าแสดงออกถึงความเมตตาที่มีต่อมวลมนุษย์ นอกจากนี้ ยังว่ากันว่า กว่าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลาถึง 90 ปี นับอายุจนถึงปัจจุบันได้ 1,204 ปี

จากตามรอยสามก๊กจนถึงชมมรดกโลก ณ มณฑลเสฉวน ครั้งนี้จึงได้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญผ่านวัฒนธรรมสามก๊ก ขณะที่ได้สัมผัสกับมรดกโลกที่ยิ่งใหญ่
หมายเหตุ: สำหรับชื่อตัวละครในวรรณกรรมสามก๊ก ผู้เขียนใช้เสียงภาษาถิ่นตามที่คนไทยคุ้นเคยเป็นหลัก

เปิดอาศรมสยาม-จีนวิทยา หน้า 2










เปิดอาศรมสยาม-จีนวิทยา

อย่างที่ทราบกันดีว่า จีนมีอารยธรรมมากกว่า 5,000 ปี ผ่านพ้นวิกฤตมาหลายยุคสมัย มีศิลปะวิทยาการ และประสบการณ์มากมายให้โลกได้เรียนรู้ แต่เนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับจีนวิทยาถูกปิดกั้น และ ขาดตอนเป็นระยะเวลานานในสังคมไทย

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ที่ปรึกษาอาศรมสยาม-จีนวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน กล่าวว่า ที่ตั้งชื่ออาศรมแล้วมีคำว่าสยามตามหลังมาเพราะบางเรื่องพูดถึงเรื่องไทยแล้วอาจต้องค้นคว้าจากจีน

ขณะที่จีนวิทยา หมายถึง ข้อมูล ความรู้ทัศนะ และประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมแห่งความเป็นจีนทั้งหลาย มีมุมมองและจุดเน้นทางแง่มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม คติชนวิทยา ฯลฯ แตกต่างจากขอบข่ายของ “จีนศึกษา” ซึ่งเน้นไปเชิงสังคมศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ

นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองผู้จัดการทั่วไป สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า อาศรมสยาม-จีนวิทยาเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2544 แต่เริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยเป็นลักษณะการเสวนาให้ความรู้เรื่อง เปิดโลกวรรณกรรมสามก๊ก จากนั้นก็มีเสวนากันทุกสัปดาห์ตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งล่าสุดจัดเรื่อง เรียนปรัชญาเต๋าไปทำไม

นอกจากเสวนาแล้วยังมีจดหมายข่าวไปตามแหล่งต่างๆซึ่งมียอดพิมพ์ราว 2,000 ฉบับและสมาชิกลงทะเบียนไว้แล้ว 700 คน กลุ่มผู้สนใจศึกษาเรื่องจีนก็ขยายตัวขึ้นสังเกตจากสถานศึกษาที่มีสอนวิชาภาษาจีนจะส่งนักศึกษาเข้ามาร่วมรับฟังทุกครั้งที่จัดเสวนา

“อาศรมสยาม-จีนวิทยาต้องการจะให้เรียนรู้อย่างถูกต้องเป็นระบบ หลังทำจดหมายข่าวแล้วเรายังเคยรวบรวมเป็นพ็อกเกตบุ๊คชื่อ “พลิกม่านไม้ไผ่” จัดทัวร์วัฒนธรรมเริ่มจาก ตามหารากเหง้าชาวแต้จิ๋ว ในปีพ.ศ.2548 ทำมาแล้ว 3 ครั้ง ปีนี้ครั้งที่ 4 จึงเปลี่ยนมาจัดตามรอยสามก๊กเพื่อให้ได้สัมผัสภูมิปัญญาจีนกลับมาไทย” นายประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปของอาศรมสยาม-จีนวิทยาได้วางไว้ว่าจะจัดให้ความรู้เรื่อง ขงจื้อ งิ้วแต้จิ๋ว กำเนิดของภาษาตระกูลไท เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น