หลังข้ามปีด้วยการฉลองเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว วันสำคัญในประเพณีจีนอีกวันหนึ่งในช่วงใกล้ๆ กันนี้ คือ เทศกาลหยวนเซียว (元宵) ซึ่งเป็นเทศกาลในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคมในปีนี้ และในวันนี้ชาวจีนจะนิยมกินขนมบัวลอยกันในครอบครัว และออกจากบ้านมาชมการประดับโคมไฟ เพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节)
เทศกาลหยวนเซียวซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของจีนนี้ ได้มีมากกว่า 2,000 ปี โดยตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน จะนับเอาวันที่พระอาทิตย์ โลกและพระจันทร์มาอยู่ในระนาบเดียวกันเป็นวันแรกของปี หรือขึ้นหนึ่ง 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งในสมัยโบราณจะเรียกเดือนอ้ายว่า “หยวน” (元) ส่วนคำว่า”เซียว”(宵)หมายถึงกลางคืน เทศกาล เทศกาลนี้จึงหมายถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปี (วันตรุษจีนคือวันปีใหม่ของจีน)
ตำนาน"หยวนเซียว"
ว่ากันว่าเมื่อนานมาแล้ว เป็นยุคที่มีสัตว์ร้ายมากมายเที่ยวทำร้ายผู้คน ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้ กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก แล้วถูกบรรดานายพรานพลั้งมือฆ่าตาย จนทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เดินทางมาเพื่อปล่อยเพลิง เผาทำลายมนุษย์และทรัพย์สินทั้งหลายให้หมดสิ้น ในคืน 15 ค่ำเดือนอ้าย
ในครั้งนั้นธิดาผู้ของเง็กเซียนฮ่องเต้ เกิดสงสารไม่อาจทนเห็นผู้คนต้องประสบเภทภัย จึงแอบขี่เมฆบินลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า ในคืนวัน 14 ค่ำ -16 ค่ำเดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ จุดประทัดเสียงดัง พร้อมกับจุดพลุ เช่นนี้แล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จะเข้าใจว่าคนบนโลกถูกเผากันหมดแล้ว
ทุกคนต่างเห็นด้วย แล้วแยกย้ายกันไปเตรียมการตามแผนนั้น ในวัน 15 ค่ำ เมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา ทรงเห็นว่าบนโลกนอกจากแดงเถือกไปหมดแล้ว ยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน จึงคิดว่าโลกไปถูกไฟเผาไปแล้ว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ทุกปีเมื่อถึง 15 ค่ำเดือนอ้าย ทุกๆบ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว
บ้างก็ว่า เทศกาลหยวนเซียว เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25) หลังจากที่มีการปราบกบฏเสร็จสิ้น ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้นในวัน 15 ค่ำเดือนอ้ายนี้
ส่วนประเพณีการชมโคมไฟ เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีบูชาเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟ จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย
มาถึงราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต เชิดมังกร แข่งเรือเข้าไปจนทำให้เทศกาลนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว โดยนัยยะแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งคู่รักอีกด้วย เนื่องจากสตรีในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเรือนชาน ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในเทศกาลนี้ จะได้มีโอกาสออกมาชมการประดับโคมไฟ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลาย มีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตของตนได้
สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า浮圆子ฝูหยวนจื่อ (,浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团ทังถวน(汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของแต่ละเทศกาลบนแดนมังกร
ทั้งนี้ เนื่องด้วยการรับประทานบัวลอยในคืนหยวนเซียว ปัจจุบันจึงมีการเรียกบัวลอยว่า หยวนเซียวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำว่าหยวนเซียวจึงพัฒนาจนมี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อเทศกาล สองหมายถึงบัวลอยนั่นเอง.
แปลและเรียบเรียงจากไชน่าเน็ตดอทคอม